

.นักลงทุนเทขายหุ้นลดความเสี่ยง ห่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ย-โควิดกลับมาระบาด ส่งผลหุ้นร่วงในหลายกลุ่ม
.ผลวิจัยชี้ วัคซีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพต่ำลงในการสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
.ตลาดหวั่นเงินเฟ้อพุ่ง-ดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 35,385.83 จุด ดิ่งลงกว่า 511.81 จุด หรือ -1.43% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 15,064.08 จุด ลดลง 116.36 จุด หรือ -0.77% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,634.77 จุด ลดลง 33.90 จุด -0.73%
ตลาดหุ้นสหรัฐฯกังวลการกลับมาระบาดของโควิด-19 หลังจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและ Humabs Biomed SA ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า วัคซีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพต่ำลงในการสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยผู้ทื่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มครบโดสจำนวน 3 จาก 13 รายเท่านั้น ที่ร่างกายสามารถสร้างแอนติบอดีต้านทานโอมิครอน
ผู้ที่ได้รับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีเพียง 1 จาก 12 รายเท่านั้นที่มีภูมิต้านทาน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนสปุตนิกจำนวน 11 ราย ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่มีภูมิต้านทาน รวมทั้ง รายงานยังระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสของไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ต่างก็มีแอนติบอดีต่ำเช่นกัน
ขณะที่ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่อง อาจจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในระยะต่อไป โดยซิตี้กรุ๊ปออกรายงานระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.2565 ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
“ในระยะกลาง ดอลลาร์ยังคงได้รับปัจจัยหนุนให้ดีดตัวขึ้น ขณะที่เฟดมีแนวโน้มเริ่มต้นวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.2565” รายงานระบุ
นักลงทุนพากันเทขายหุ้นในหลายกลุ่มทั่วกระดาน โดยมีแรงเทขายกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลดีจากการเปิดเศรษฐกิจปรับตัวลดลงเช่นกัน แม้แต่กลุ่มธนาคารก็ปรับลดลงเช่นกัน