ดาวโจนส์ผันผวนหนัก รอเฟดตัดสินใจดอกเบี้ย ลบเล็กน้อยกว่า 20 จุด

Business team investment trading do this deal on a stock exchange. People working in the office.

.ตลาดหุ้นสหรัฐแกว่งตัวทั้งในแดนลบและบงก ตามแรงซื้อและขายเข้ามาส่งผลดัชนีผันผวน
.นักลงทุนจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มประชุมนโยบายการเงินวันนี้วันแรก
. ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค.สอดคล้องกับคาดการณ์นักวิเคราะห์

เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 30,492.12 จุด ลดลง 24.62 จุด หรือ -0.09% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 10,858.54 จุด ปรับเพิ่มขึ้นมาได้ 49.31 จุด หรือ +0.46% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 3,757.73 จุด เพิ่มขึ้น 8.10 จุด หรือ +0.22%

ตลาดหุ้นสหรัฐผันผวนในแดนบวกและแดนลบ ติดตามสถานการณ์การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งวิตกว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่มีแรงช้อนซื้อเข้ามา หลังตลาดรับรู้ทิศทางดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มการประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วันในวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 4 ของปีนี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมรอบนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ โดยนักลงทุนยังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 4% ในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.75-1.00%

นายแจน แฮตซิอุซ หัวหน้านักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุในรายงานว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมรอบนี้ และจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค. แต่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในเดือนก.ย. ก่อนที่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนพ.ย.และธ.ค.

อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2524 ยังเป็นแรงกดดันความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ดีดตัวขึ้น 10.8% ในเดือนพ.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 11.0% ในเดือนเม.ย.