ดาวโจนส์ปิดลบกว่า 400 จุด จับตาการเจรจาคลี่คลายวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน



.ตลาดติดตามความเป็นไปได้ในการเจรจายุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
.นักลงทุน เทขายหุ้นลดความเสี่ยงต่อเนื่อง รอการแถลงนโยบายประจำปี “ไบเดน”
.เจ้าหน้าที่เฟดบางรายระบุ จะนำผลกระทบยูเครน เป็นหนึ่งในปัจจัยพิจารณานโยบายการเงิน 15-16 มี.ค.นี้

เมื่อเวลาประมาณ 21.55 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์เคลื่อนไหวที่ระดับ 33,641.14
จุด ลดลง 417.61 จุด หรือ -1.23% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่ 13,628.33 จุด ลดลง 66.30 จุด หรือ -0.48% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500เคลื่อนไหวที่ระดับ 4,345.97 จุด ลดลง 38.68 จุด หรือ -0.88%


นักลงทุนจับตาการเจรจาโดยตรงระหว่างคณะผู้แทนของรัสเซียและยูเครนเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการเจรจาได้เริ่มขึ้นแล้วในขณะนี้ที่ภูมิภาคโกเมลของเบลารุส ซึ่งอยู่ที่บริเวณชายแดนเบลารุสและยูเครน ใกล้กับแม่น้ำปรีเปียต อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งสองฝ่ายยังหาข้อตกลงที่เห็นพ้องกันได้ไม่ง่ายนัก


นักลงทุนยังให้ความสนใจต่อการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนต่อสภาคองเกรสในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค.) เวลา 21.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าวันพุธ (2 มี.ค.) เวลา 09.00 น.ตามเวลาไทย


โดยคาดว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของปธน.ไบเดนต่อสภาคองเกรสในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแถลงนโยบายประจำปีต่อวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเป็นครั้งแรกของเขา จะได้รับความสนใจไปทั่วโลก ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในยูเครน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าปธน.ไบเดนจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความสำเร็จ และผลงานของรัฐบาลสหรัฐในปีที่ผ่านมา โดยเขาจะกล่าวถึงการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ พร้อมกับจะกล่าวถึงสิ่งที่เขาจะดำเนินการต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของการดำรงตำแหน่งของเขา


ขณะที่ประเด็นทางการเมือง จะกล่าวประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน รวมทั้งจะกล่าวถึงมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซีย และมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อยูเครน


ตลาดยังจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2-3 มี.ค. และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มี.ค.


โดยการแถลงนโยบายการเงินดังกล่าวจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี และเป็นการส่งสัญญาณว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดหรือไม่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดบางรายระบุว่า เฟดจะนำผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งในยูเครนเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณานโยบายการเงินของเฟด