ดาวโจนส์ปรับขึ้นกว่า 100 จุด ขานรับสหรัฐฯเตรียม เปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

.จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ในสหรัฐลดลงอย่างเนื่อง ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนเกินครึ่งประชากร
.นักลงทุนซื้อลงทุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจต่อเนื่อง
. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐเดือนเม.ย. แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเวลา 22.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ34,659.91 จุด เพิ่มขึ้น 130.46 จุด หรือ +0.38% ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส เคลื่อนไหวที่13,720.99 จุด ลดลง 27.75 จุด หรือ -0.20% ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ระดับ 4,205.74 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.63 จุด หรือ +0.04%

นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นต่อเนื่องรับการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติอีกครั้งในไม่ช้านี้ หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างเนื่อง ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนก็เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หุ้นที่เคยได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้าน ในกลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (30 พ.ค.) ว่า ประชากรสหรัฐเกินครึ่งได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส โดยผู้ใหญ่กว่า 62% ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563

หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจเช่น หุ้นกลุ่มสายการบินและหุ้นกลุ่มพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหุ้นสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.09% หุ้นสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.23% และหุ้นแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.76% ส่วนหุ้นเชฟรอน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.58% และหุ้นเอ็กซอนโมบิล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.15%

นักลงทุนยังได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 60.5 ในเดือนเม.ย. แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ค.2550 และยังมากกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ 61.5 ด้วย โดยได้แรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นในซัพพลายเชนได้ก่อให้เกิดปัจจัยกดดันด้านต้นทุนอยู่บ้าง

ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยวันนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 61.2 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ที่ระดับ 60.7 ได้รับแรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดการผลิต และการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตสินค้าให้ทันความต้องการที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี การขาดแคลนวัตถุในการผลิต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการขนส่งสินค้า ได้เข้ามาเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตในระดับหนึ่ง