ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.66 ปรับขึ้นยกแผง

.หลังได้นายกฯคนที่ 30 การเมืองในประเทศคลี่คลาย
.ดัชนีความสุขในการดำเนินชีวิต-ดัชนีการเมืองดีดตาม
.ประชาชนมั่นใจจับจ่ายใช้สอย-กำลังซื้อเริ่มกลับมา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.66 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น หลังจากเดือนก.ค.66 ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.66 อยู่ที่ 56.9 เพิ่มจาก 55.6 ในเดือนก.ค.66, ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 41.7 เพิ่มจาก 40.7, ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 64.2 เพิ่มจาก 62.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 51.6 เพิ่มจาก 50.3, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 53.9 เพิ่มจาก 52.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.2 เพิ่มจาก 63.9


ทั้งนี้เป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังจากแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจากรจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ โดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น คาดว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้


นอกจากนี้ ดัชนีความเหมาะสมของผู้บริโภคในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นทุกรายการตามดัชนีความเชื่อมั่น ทั้งการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่ดัชนีความสุขในการดำเนินชีวิต และดัชนีสถานการณ์ทางการเมือง ก็ปรับขึ้นเช่นกันทั้งในปัจจุบัน และอนาคต หลังจากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เช่นเดียวกับดัชนีค่าครองชีพ และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ที่ปรับขึ้นด้วย


“จากสัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดีขึ้น ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความชัดเจน และมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว คาดว่า จะได้เห็นการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น กำลังซื้อเริ่มกลับมา และมีโอกาสที่จะได้เห็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 67 หากไม่มีเหตุการณ์พลิกผัน”


อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังกังวลค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง ความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย และมีผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชน