“ดร.สุเมธ” ชูแนวคิดพอเพียง ในหลวง ร.9 ปูทางสู่ความยั่งยืน เน้นทำพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน

  • เผยถึงเวลาที่ต้องมาดูปัจจัย 4 ว่ามีเพียงพอหรือไม่
  • ชี้ปัญหาต่อไป คือปริมาณทรัพยากรจะไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรได้
  • เผยสงครามแย่งชิงเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว โดยแย่งชิงพลังงาน
  • ลั่นอีก 10 ปีจากนี้ จะเกิดสงครามแย่งชิงน้ำ ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าด้านพลังงาน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงาน Sustainability Expo 2022 โดยมีเนื้อหาว่า… ด้านปัญหาความยั่งยืนที่พวกเราพูดกันมาตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ยังถือเป็นปัญหาที่หนักอก ซึ่งคำว่า Sustainability จะยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนต้องดูว่า ขณะนี้มนุษย์ยังใช้ชีวิตสนุกสนามร่าเริง และใช้โลกตอบสนองความสนุกของตัวเองหรือไม่ เกิดการทำลายที่มากขึ้น และความต้องการไม่รู้จบสิ้น และต้องอย่าลืมว่าจำนวนคนในโลกใบนี้มีมากขึ้น และไม่เคยอยู่นิ่ง

“เมื่อสมัยตอนผมอายุ 14-15 ปี ประชาชนในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 15 ล้านคน ส่วนตอนนี้อายุ 83 ปีแล้ว ซึ่งจำนวนประชากรก็ได้เพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านคน ซึ่งถ้ามองแล้วจะพบว่า ขนาดบ้าน (ประเทศ) ของเราเท่าเดิม แต่มีจำนวนคนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในขณะที่ประชากรชาวโลกมีจำนวนถึง 7,400 ล้านคน โดยสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้านี้ จำนวนประชากรโลกจะกระโดดพุ่งไปเป็น 9,000 ล้านคน 

ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า เวลานี้พวกเราต้องมาดูว่าปัจจัย 4 ยังมีเพียงพอหรือไม่ เพราะปัญหาต่อไปคือปริมาณทรัพยากรจะไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรได้ เนื่องจากวันนี้ทรัพยากรหายไปเฉลี่ย 1 ใน 3 ส่วนแล้ว โดยสงครามแย่งชิงได้เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว โดยแย่งชิงพลังงานช่วง 10 ปี และอีก 10 ปีต่อจากนี้ จะเกิดสงครามแย่งน้ำ ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าพลังงาน

ทั้งนี้ สมัยในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญในการรักษา ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยตลอดระยะเวลา 70 ปี ทรงเน้นย้ำถึงการมีน้ำที่เพียงพอ ศึ่งพระองค์ท่านทรงริเริ่มกว่า 4,000 โครงการ แม้ว่าคนไทยจะปลื้มในการมองเห็นปัญหาของพระองค์ท่าน แต่น้อยคนที่จะลงมือกระทำด้วยตนเอง ดังนั้นวันนี้โลกใบนี้ จะอยู่ในมือของพวกเราทุกคน เป็นที่รองรับชีวิตและกำลังแตกสลาย 

ทั้งนี้ ปี 2531 พระองค์ท่านทรงรับสั่งให้ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา เพราะท่านทรงมองเห็นปัญหาที่ชาวโลกกำลังเผชิญว่าใหญ่โตขึ้นทุกที กลายเป็นสงครามที่มนุษย์ต่อสู้กัน แต่ไม่ได้ใช้อาวุธอย่างใด แต่หันมาสู้กันที่การพัฒนาเพื่อเอาชนะปัญหาให้ได้ เพื่อผลสุดท้ายคือปัจจัย 4 และตลอดเกือบ 3 ปี มีทั้งโรคระบาดและสงคราม เราหนีไม่พ้นการนำสิ่งรอบข้างมาเป็นวัคซีน ยารักษาโรค รวมถึงหน้ากากอนามัย เป็นต้น

ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบจากอาวุธในการกระจายอำนาจ ส่งผลกระทบถึงโครงสร้างเศรษฐกิจภาพรวมทำให้ราคาปุ๋ย หรือน้ำมันแพง สร้างความลำบากมายิ่งกว่าพื้นที่กว้างขวาง มนุษย์รู้ถึงปัญหา และพยายามแสวงหาทางออกผ่านแนวคิดต่างๆ เหลือแค่ลงมือทำหรือไม่ ดังนั้น หวังว่าจากการจัดงานตลอด 3-4 ปีมานี้ จะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้บ้าง

ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้มนุษย์เราเริ่มรู้ตัว โดยปัจจุบันเราจะเจอประโยคง่ายๆ มากมาย อย่างคำว่า ขึ้นสูงสุดกลับคืนสู่สามัญ สิ่งแวดล้อมสีเขียว ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เนื่องด้วยมนุษย์พยายามแสวงหาทางออก เหลืออย่างเดียวคือการลงมือทำ ก็หวังว่าวันนี้จะเกิดผล จริงๆ 

ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่น้อยหน้า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสนอเศรษฐกิจพอเพียงไว้มากมาย ซึ่งก็ไม่ใช่แค่การไปปลูกผักหญ้าแล้วกินมาทาน  แต่เป็นวิธีคิด ซึ่งมีคำจำกัดความพระราชทานไว้ 13 บรรทัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยท่านทรงเตือนถึง 3 ครั้ง คือ ความเปลี่ยนแปลง ทรงเตือนให้รู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ต้องปรับตัวให้ทัน อย่างวันนี้เกิดดิสรัปชัน  ทำให้บางสิ่งเกิดความพ่ายแพ้ราบคาบหายไป

“ในหลวงพระองค์ท่านทรงพระราชทานหลักความคิด 3 ประการ โดยกล่าวว่าไม่ว่าทำอะไร ให้ทำพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันหมายความว่า ขั้นแรกก่อนทำอะไร ให้ประเมินตัวเอง ประมาณตน เอาขนาดทุนของตัวเองเป็นที่ตั้งหรือทำอะไรอย่าให้เกินตัว”

ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า คนไทยมีจุดอ่อนคือ ส่วนใหญ่จะรู้เขาแต่ไม่รู้เรา เมื่อรู้ทุน รู้ปัจจัยการผลิตแล้ว ทรงให้ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง หากไม่ใช่ ความโลภจะทำทางแทน ขณะที่เหตุผลมาด้วยสติและปัญญา และภูมิคุ้มกัน คือการบริหารความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะโลกใบนี้เปลี่ยนตลอด ต้องเตรียมให้พร้อม ต้องรอบรู้รอบคอบระมัดระวัง ยุคข้อมูลข่าวสารต้องตามให้ทัน 

“อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืน จะต้องยั่งยืนไปสู่คนรุ่นหน้าถัดไป โดยพระองค์ทรงพระราชทาน 3 เป้าหมาย นั้นคือสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ที่จะต้องลงมือทำเพื่อรักษาแผ่นดินให้อยู่สืบไป” ดร.สุเมธ กล่าว