ชาวสวนเฮ!ราคายางทะลุ 50 บาท/กก.

ราคายางทะลุ 50 บาท/กก. กยท.เดินหน้ามาตรการยกระดับราคาต่อเนื่อง เพิ่มปริมาณการใช้หน่วยงานรัฐ แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง สร้างรับเบอร์ แวลเลย์ ศูนย์กลางอาณาจักรยางพาราครบวงจร จ.นครศรีธรรมราช

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาดวานนี้ (17 ส.ค.) สูงสุด 50.25 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 40 บาทเศษมาเป็นเวลานาน เร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัย คิดค้นนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพารา โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดำเนินตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการขาย ลดต้นทุนการผลิต ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0

นอกจากนี้ กยท.ยังให้ความสำคัญด้านการวิจัย โดยสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านยางพารา ด้วยการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางพาราร้อยละ 5 ของทุกปี สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ และทดลองเกี่ยวกับยางอย่างมีระบบ และร่วมสนับสนุนทุนวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสร้างบุคลากร ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรชาวสวนยาง ได้มีโครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับบุตรเกษตรกรชาวสวนยางด้วย

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับให้ กยท.ยกระดับราคายาง  โดยการพัฒนายางทั้งระบบ ประกอบด้วย ด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ยังคงรักษาสถานะผู้นำการผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพในการแข่งขันด้านยางพาราระดับโลกและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรสูงขึ้น นอกจากนี้ มีนโยบายสนับสนุนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยางและเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ

อย่างไรก็ตามที่สำคัญจะสร้างอาณาจักรยางพาราทั้งระบบครบวงจรเรียกว่า “รับเบอร์ แวลเลย์” จ.นครศรีธรรมราชเนื่องจากภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชมีองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์ คือ มีพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวนยาง มีตลาดกลางยางพาราในการประมูลซื้อขายยางพาราอยู่ในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางการค้าที่สำคัญของภาคใต้ เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตภัณฑ์ยางชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งเหมาะสมส่งเสริมให้เป็นแหล่งธุรกิจยางพาราภูมิภาคอาเซียน

สำหรับพื้นที่สร้างรับเบอร์ แวลเลย์ จะใช้พื้นที่ของ กยท. 41,000 ไร่ ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล การเรียนรู้ การผลิต แปรรูป ส่งออกอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเฉพาะด้านยางพาราแก่ผู้ที่สนใจศึกษาดูงานด้านยางพาราได้อย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงข้อดีและข้อจำกัดในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง