ชาวสวนผลไม้เฮลั่น!รัฐไม่ทอดทิ้ง

  • พาณิชย์จับมือ29หน่วยงานลงนามเอ็มโอยู
  • ทำแผนบริหารจัดด้านการตลาดผลไม้ปี62
  • ซื้อจากแหล่งผลิต2หมื่นตันกระจายสู่ผู้บริโภค

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดทำแผนบริหารจัดการด้านการตลาดเพื่อรองรับผลไม้ปี 62 ว่า กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนดำเนินการให้ความช่วยเหลือผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด ได้แก่ มังคุด ลองกอง ลำไย เงาะ และทุเรียน อย่างเร่งด่วน จำนวน 6 มาตรการ เพื่อช่วยเร่งระบายผลผลิตจากแหล่งผลิตออกสู่ตลาด มีเป้าหมาย 20,000 ตัน

สำหรับมาตรการที่ 1 จะช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงด้วยการจัดส่งกล่องบรรจุผลไม้ ขนาด 3 , 5 และ 10 กิโลกรัม (กก.) ไปให้เกษตรกรใช้บรรจุผลไม้เพื่อจำหน่าย ส่วนมาตรการที่ 2 จะจัดหาช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรผ่าน 7 ช่องทาง ได้แก่ ผ่านห้างค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต, เดอะมอลล์, เซเว่นอีเลฟเว่น, เทสโก้โลตัส, ซุปเปอร์ชีพ, ท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก, ทวีกิจซุปเปอร์เซ็นเตอร์ เป็นต้น , ตลาดต้องชม 65 ตลาดทั่วประเทศ , ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและห้างซีเจ , สมาคมภัตตาคารไทย , สมาคมโรงแรมไทย , ปั๊มน้ำมัน เช่น ปตท., บางจาก และพีที และส่วนราชการ เช่น กระทรวงกลาโหม กองทัพบก กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ขณะที่มาตรการที่ 3 สายการบินจะช่วยเหลือด้านน้ำหนัก กรณีหิ้วผลไม้หรือโหลดผลไม้ขึ้นเครื่อง โดยการบินไทย, ไทยสไมล์, นกแอร์, แอร์เอเชีย และบางกอก แอร์เวย์ จะเพิ่มน้ำหนักให้เป็นพิเศษตั้งแต่ 10-30 กก. ภายในช่วง 3 เดือนนี้ ขณะที่ไปรษณีย์ไทย จะจัดส่งผลไม้ให้ฟรีสำหรับประชาชนที่ต้องการจัดส่ง ในปริมาณ 100 ตันสำหรับฤดูกาลนี้, มาตรการที่ 4 จะเร่งรัดผลักดันการส่งออก โดยจะให้ความช่วยเหลือล้งที่ต้องการส่งออกผลไม้ หากไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน จะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 3%, มาตรการที่ 5 จะจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อจำหน่ายผลไม้ และมาตรการที่ 6 จะเร่งการวิจัยและพัฒนาแพกเกจจิ้งสำหรับบรรจุผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน เพื่อป้องกันกลิ่นและให้สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ หากทำได้เร็ว ก็จะช่วยเกษตรกรได้เร็ว

“หลังจากที่ได้หารือและได้ข้อสรุปมาตรการที่จะนำมาใช้ในการช่วยเหลือผลไม้ออกมาแล้ว กระทรวงได้จัดให้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 29 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ มั่นใจว่าจะสามารถดูแลราคาผลไม้ และผลักดันให้ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นได้แน่”นายจุรินทร์กล่าว