“ชัชชาติ” หนักใจปมอุโมงค์บึงหนองบอน รับไม่ง่าย ปชช.ต้องรู้ความจริง



  • ชี้ก่อสร้างผิดพลาด
  • ค่าเสียหายว่าไปตามสัญญา
  • สำนักการระบายน้ำต้องไปหาสาเหตุ

วันที่ 17 กรกฎาคม เวลา 07.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม., นาย วรเศรษฐ์ วิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเวศ นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และนายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ทำการตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนสู่เจ้าพระยา ที่บึงหนองบอน เขตประเวศ

เวลา 07.08 น. นายชัชชาติ ได้เดินทางมาถึงบริเวณจุดโครงการก่อสร้าง นายสมศักดิ์และนายเจษฎาได้เข้าอธิบายแผนงานในการก่อสร้างแนวอุโมงค์และอาคารรับน้ำ และอธิบายถึงปัญหาที่สะพานข้ามคลองเคล็ดและอุโมงค์ทรุดตัวเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่นี่เป็นโครงการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร ทำมา 5 ปีแล้วซึ่งปีนี้ควรจะเสร็จ อุโมงค์อยู่ในระดับ -30 เมตร เพราะต้องหลบเสาเข็ม ซึ่งอุโมงค์นี้มีขนาดท่อไดมิเตอร์ 5 เมตร ระบายน้ำได้ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รับน้ำจุดแรกที่บึงหนองบอนโดยมีปล่องที่รับน้ำลงไป ปล่องมีขนาดไดมิเตอร์ 15 เมตร มีทั้งหมด 7 จุด ที่บึงหนองบอน คลองหนองบอน คลองเคล็ด บริเวณอ่อนนุช ถ้าไม่มีปล่องนี้น้ำจะเข้ามาในอุโมงค์ไม่ได้ก็จะช่วยให้น้ำระบายออกไปแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้นของ 4 เขต คือ เขตประเวศ เขตบางนา เขตพระโขนง และเขตสวนหลวงบางส่วน พื้นที่ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตรที่จะช่วยเอาน้ำลงมาได้

“จริงๆแล้วโครงการควรจะเสร็จปีนี้แต่ปัญหาคือเมื่อก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 1 เดือนที่คลองเคล็ดเกิดปัญหาการทรุดตัวของสะพาน เนื่องจากปัญหาดินสไลด์ ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือต้องปิดการจราจร ตอนนี้ประชาชาบ่นเรื่องการจราจร เพราะทนมา 5 ปีแล้ว คืองานนี้ต้องบอกว่าไม่ง่าย ต้องยอมรับเพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิด เป็นเรื่องใหม่ ตอนที่สะพานยุบผมก็มา มากับคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.พรรคก้าวไกล มาดูกันแล้วก็รู้เลยว่าไม่ง่าย เพราะสถานการณ์ใต้ดินก็อันตราย” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ‘หนักใจ’ สุดท้ายต้องยอมรับความจริง ต้องบอกประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องบอกความจริงว่าจะใช้ระยะเวลากี่ปี อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียน สถานการณ์ตอนนี้คือต้องมีการซ่อมแซม วิธีแก้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องใช้เวลาแก้เป็นปี ต้องรีบเร่งคุยกับผู้รับเหมา โดยนายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล ส.ก.เขตประเวศ ก็มีการพูดเรื่องนี้ในสภากทม.

ทั้งนี้ นายชัชชาติได้ฝากทางสำนักการระบายน้ำเร่งรัดและให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด

เมื่อถามถึงสาเหตุที่สะพานเกิดการทรุดตัว นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องมีความผิดพลาดของการก่อสร้างแน่นอน ถ้าก่อสร้างถูกต้องมันก็ต้องป้องกันได้ โดยตนสรุปจากมุมมองคนนอก อย่างไรก็ตามทางสำนักการระบายน้ำต้องไปตรวจสอบและหาสาเหตุให้ได้ ต้องมองไปข้างหน้า อดีตก็ต้องเอามาดูว่าใครผิดใครถูก ใครรับผิดชอบตรงไหน เป็นบทเรียนเพราะเราต้องทำอุโมงค์อีก 4 อุโมงค์ซึ่งมันก็อาจจะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก และเรื่องการจราจรต้องเร่งรัดเพราะอุดมสุขก็เชื่อมโยงหลายพื้นที่ ชาวบ้านรอมา 4-5 ปี ก็ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้คืนพื้นที่และทำอุโมงค์ให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่าถ้าจะต้องแก้ไขภายใน 2 ปีนี้ ต้องทำอะไรบ้าง นายชัชชาติ กล่าวว่า ก็ต้องทำ ค่าเสียหายก็ต้องว่าไปตามสัญญา ต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตอนนี้ก็ต้องหาสิ่งที่จะระบายน้ำทดแทนไปก่อน ต้องดูว่าจะทำเป็นบางส่วนได้หรือไม่ การรับผิดชอบเป็นอย่างไร จริงๆแล้วไม่อยากรับงานมาก่อน เพราะรับงานบางส่วนมาก็จะมีปัญหาทั้งระบบ ก็ต้องดูให้ดีเรื่องความรับผิดชอบ สุดท้ายก็ต้องเอาประโยชน์ภาพรวมเป็นหลัก