

- งัดนโยบายเด็ด เพื่อการเรียนที่ดี มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว
- ชูนโยบาย “สร้างสรรค์ดี” เล็งพัฒนาพื้นที่แห่งดนตรี ศิลปะการแสดง สตรีทโชว์ ให้ศิลปินมีพื้นที่แสดงผลงาน
- ชื่นชม “มิลลิ” แสดง Soft Power ผ่านความสามารถของตนเองในฐานะศิลปิน
- พร้อมใช้โอกาสทำให้อาหารไทย อย่างข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่รู้จัก
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตราษฎร์บูรณะ เริ่มต้นจากตลาดบางปะกอกและตลาดวัดนาคนิมิตร จากนั้นเดินทางไปรับฟังปัญหาของพื้นที่ที่โรงเรียนปัญญาศักดิ์ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากครูและผู้ปกครอง ชัชชาติย้ำนโยบาย “เรียนดี” พัฒนามาตรฐานโรงเรียนสังกัด กทม. 437 โรงเรียน มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว
โดยจากปรากฏการณ์ “มิลลิ” แร็ปเปอร์ชาวไทยวัย 19 ปี ขึ้นเวทีเทศกาลดนตรีโคเชลลา สหรัฐ นายชัชชาติ กล่าวว่ารู้สึกชื่นชม “มิลลิ” ที่ได้แสดงพลังของ Soft Power ผ่านความสามารถของตนเองในฐานะศิลปิน และยังใช้โอกาสดังกล่าวทำให้อาหารไทย อย่างข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่รู้จัก
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน พบว่า กทม. ยังขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ จึงออกแบบนโยบาย “สร้างสรรค์ดี” ด้วยการพัฒนาพื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง หรือสตรีทโชว์ เพื่อส่งเสริมให้ศิลปินมีพื้นที่แสดงผลงานและอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจซบเซานอกจากนี้ยังสามารถยกระดับสตรีทโชว์ให้เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
“ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ ไม่เฉพาะการเจอเพื่อนในชั้นเรียน แต่ต้องมาจากการเจอเพื่อนต่างที่ต่างโรงเรียนแต่กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่ให้พวกเราได้เจอกัน ดังนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ให้คนมาเจอกันเพื่อสร้างงานสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่แสดงดนตรี เป็นพื้นที่แสดงศิลปะ และไม่ใช่เฉพาะหอศิลป์ กทม. เท่านั้น แต่ควรกระจายไปทุกเขต ทุกแขวง เพื่อให้คนได้แสดงความสามารถทางศิลปะ และต่อไปจะเป็นพลังของอนาคตเลยในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy” นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากคณะครูและผู้ปกครอง โรงเรียนปัญญาศักดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ นายชัชชาติได้นำเสนอนโยบาย “เรียนดี” หลายนโยบาย อาทิ นโยบายคืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ครูมีเวลาดูแลนักเรียนได้เต็มที่ นโยบายเปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน นโยบายพัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา สอนผ่านหลักสูตรไทย ต่างประเทศ และเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน ตลอดจนนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและเด็กอ่อนในชุมชนและใกล้แหล่งงาน ทั้งนี้ได้ย้ำว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว ด้วยการสร้างโอกาสให้กับเด็กเยาวชน และประชาชนทุกคน