

วันที่ 21 ส.ค.2564 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่รัฐสภานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 65 ในวันนี้จะจบหรือไม่ว่า อยู่ที่สมาชิกแต่ทางประธานจะช่วยดูแลให้การประชุมเรียบร้อยแต่ในส่วนจำนวนผู้อภิปรายและกรอบเวลาที่กำหนดอยู่ที่สมาชิก
เมื่อถามว่า สมาชิกที่อภิปรายและเรื่องที่เหลือจะต้องใช้เวลาอีกกี่วัน นายชวนกล่าวว่า เรื่องที่เหลืออยู่จะมีปัญหาน้อยกว่าที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้กรรมาธิการผู้แปรญัตติใช้เวลาอภิปรายมากพอๆกับฝ่ายค้าน ซึ่งพ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นสิทธิ์ผู้แปรญัตติเราไม่สามารถบอกให้เขาไม่อธิปรายไม่ได้เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา ซึ่งเราก็พยายามที่จะให้อยู่ในประเด็นและให้เป็นการอภิปรายแปรญัตติไม่ใช่วาระหนึ่ง แต่มีหลายคนที่ยังทำไม่ได้ ทำให้มีการประท้วงในที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ซึ่งตนกับรองประธานก็ช่วยกันเตือน แต่ถือว่าการอภิปราย 3 วันที่ผ่านมาโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความร่วมมืออยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่สมาชิกทำไม่ได้ก็คือการอภิปรายพี่อยู่ในกรอบการแปรญัตติ
“ต้องยอมรับว่าการอภิปรายในวันแรก และวันที่สองแล้วขาดเวลาสองวันเกือบ 10 ชั่วโมงทำให้เวลาที่ใช้ในการอภิปรายในการพิจารณาวาระสองไม่เท่ากับสมัยก่อน ซึ่งในการประชุมวันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้กี่มาตรา”
เมื่อถามว่า จากกรอบเวลาจะในการประชุมวันนี้จะใช้เวลาถึงกี่โมง นายชวนกล่าวว่า จะดูที่ความสมัครใจของสมาชิกเพราะเป็นเรื่องกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต้องดูว่าสมาชิกมีความพร้อมเพียงใด สมมุติว่าประชุมไป หากองค์ประชุมไม่ครบก็มีปัญหาตามมาทีหลังก็ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยขอให้เลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 23 ส.ค.ได้มีการพิจารณาหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ที่จริงทำได้ เพียงแต่ว่าโดยหลักแล้วการพิจารณางบประมาณควรทำต่อเนื่องไป ถ้าพิจารณาไม่จบจะไปต่อวันไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเป็นสิทธิ์ของสมาชิก
เมื่อถามว่าหากอีก 20 มาตราที่เหลืออยู่อภิปรายไม่แล้วเสร็จจะมีการประชุมต่อในวันที่ 22 ส.ค.ใช่หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ใจของตนหากสมาชิกมีความพร้อมวันไหน ก็ยินดีจัดให้ตามที่เขามีความพร้อม แต่โดยหลักที่ตนแนะนำการอภิปรายงบประมาณไม่ควรที่จะทิ้งช่วง ควรที่จะพิจารณาให้จบภายในกำหนดเวลาและควรที่จะต่อเนื่องไปเลย ไม่ควรที่จะทิ้งเวลาเพราะแต่ละฝ่ายมีภารกิจ ซึ่งพ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายสำคัญที่สุดของรัฐบาล ถ้าเสียเวลาหรือช้าไปก็จะกระทบภาพรวมในการบริหารบ้านเมือง
ส่วนหากพิจารณาล่าช้าจะกระทบต่อกรอบเวลา 105 วันหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เดิมเรากำหนดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ไว้ 3 วัน ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลาของกมธ.เอง ไม่ใช่สภากำหนด แต่พอถึงเวลาจริงก็ทำไม่ได้ แต่เดิมกำหนดว่าฝ่ายค้านอภิปราย 20 ชม. ฝ่ายรัฐบาลก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ในตอนหลังก็ไม่สามารถทำได้ จึงขอยกเลิกข้อตกลงนั้น เมื่อขอยกเลิกก็ปล่อยให้ว่าใครจะอภิปรายอะไรก็เป็นสิทธิของผู้นั้น