“จุรินทร์” โชว์วิสัยทัศน์ประชุมรัฐมนตรีเอเปก



  • เสนอใช้การค้าดิจิทัลฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
  • พร้อมใช้ “บีซีจี โมเดล” ขับเคลื่อนการค้ายุคใหม่
  • หนุนเอเปกยกระดับความร่วมมือเป็นเขตการค้าเสรี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก(กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ครั้งที่ 32 ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่า  ไทยนำเสนอใช้การค้าดิจิทัล เป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบัน การค้าดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งไทยมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการค้า ทั้งออนไลน์ และออนไลน์ผสมกับออนไซต์ จัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ จัดอบรมเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และรายย่อย  ให้ใช้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในการทำธุรกิจรวมถึงสร้างนักธุรกิจยุคใหม่

นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนใช้บีซีจี โมเดล (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษบกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ไทยยืนยันที่จะสนับสนุนให้เอเปกพัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในอนาคต ซึ่งจะมีผลทำให้ความร่วมมือในกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และช่วยลดเลิกอุปสรรคทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาว ขณะที่การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) หรือเอ็มซี 12 ในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ เห็นว่า เอเปก ควรมีบทบาทผลักดันให้การประชุมมีผลลัพธ์ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการกำหนดกติกาอี-คอมเมิร์ซที่โปร่งใส ยุติธรรม และคุ้มครองผู้บริโภคจากการค้าออนไลน์ รวมถึงการผลักดันให้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง จัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง และลดการอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมเอ็มซี 12 สมาชิกดับบลิวทีโอ ตั้งเป้าที่จสรุปผลการเจรจาในประเด็นสำคัญ เช่น จัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง, หาข้อสรุปลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรที่บิดเบือนการค้า การเสริมสร้างความโปร่งใส และยกเว้นมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารโลก, ปฏิรูปดับบลิวทีโอ  เพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน และเพิ่มบทบาทของดับบลิวทีโอ ในการรับมือกับโควิด-19

“การหาข้อสรุปในการประชุมเอ็มซี 12 มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของโลกต่อดับบลิวทีโอ  โดยเฉพาะในการเป็นเวทีจัดทำกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก และกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศให้เสรี และเป็นธรรมท่ามกลางการปรับตัวทางเศรษฐกิจการค้าโลกจากวิกฤติโควิด-19” นายจุรินทร์ กล่าว