“จุรินทร์”สั่งเร่งแก้ปัญหาเมียนมาห้ามนำเข้า 5 สินค้า



  • เหตุเตรียมระงับนำเข้าเครื่องดื่มไทยทางบก 1พ.ค.นี้
  • แต่ให้นำเข้าทางทะเลแทนเชื่อดันราคาสินค้าไทยพุ่ง
  • วงในเผยเหตุห้ามนำเข้าหวังแก้ขาาดดุลการค้าไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ทางการเมียนมาได้ประกาศงดการนำเข้าสินค้าเครื่องดื่ม 5 รายการชั่วคราว ได้แก่ เครื่องดื่มทุกประเภท เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง, เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟ และชา, กาแฟสำเร็จรูป, นมข้นหวาน และนมข้นว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาว่า ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ทางการเมียนมามีคำสั่งเรื่องสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม โดยจะระงับการนำเข้าผ่านด่านทางบก แต่ให้ส่งออกผ่านด่านทางเรือแทน ซึ่งตนได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ เร่งเจรจากับเมียนมาถึงสาเหตุการออกคำสั่งดังกล่าว และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งได้เจรจาแล้วเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา
“สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม ประเทศไทยส่งออกไปเมียนมาปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนสินค้าเครื่องดื่มที่เมียนมาระงับนำเข้าทางบก เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และนมเปรี้ยว เป็นต้น ซึ่งคาดว่า หากให้นำเข้าทางเรือแทน จะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนการจนส่งเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน ที่ไทยนำเข้าทางบกผ่านด่านการค้า 3 แห่งคือ แม่สอด จ.ตาก, แม่สาย จ.เชียงราย และระนอง”

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวต่อถึงกรณีที่นายจุรินทร์ สั่งการให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาว่า หลังจากที่ได้หารือกับภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในเมียนมา รวมถึงสภาธุรกิจไทย-เมียนมาไปแล้ว พบว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐช่วยเหลือในการเสริมสภาพคล่องให้ เพราะขณะนี้ ธุรกิจไทยหลายรายที่ลงทุนในเมียนมา ต้องปิดโรงงาน ปิดกิจการชั่วคราวเกือบ 3 เดือนแล้ว ทำให้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยเฉพาะรายเล็ก และรายย่อย จึงได้ประสานกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ให้ความช่วยเหลือแล้ว

โดยล่าสุด ได้รับแจ้งจากเอ็กซิมแบงก์ว่า เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา และ ลูกค้าในซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งมีมาตรการหลักๆ คือ การปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ และการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้าเดิมของแบงค์ ส่วนลูกค้าที่จะขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ยังไม่มี เพราะส่วนใหญ่ที่ไปลงทุนในเมียนมา มีศักยภาพด้านการเงิน จึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ แจ้งว่า ยังไม่ได้ออกมาตรการเพิ่มเติม มีเพียงการใช้พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แตรที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้ประกอบการ ที่ทำธุรกิจกับเมียนมา มาขอซอฟต์โลกจากแบงก์เลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่เมียนมาห้ามนำเข้าสินค้า 5 รายการผ่านด่านทางบก เพราะต้องการแก้ปัญหากรณีที่ในช่วง 2 เดือนแรกปี 64 (ม.ค.-ก.พ.) เมียนมานำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังขาดดุลการค้ากับไทยจำนวนมาก