“จุรินทร์”ตะลุยแก้ปัญหาส่งออกหวังดันให้ปีนี้โตได้ 4%



  • แก้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดปลดล็อกเรือ 400 เมตรเทียบท่าแหลมฉบังได้แล้ว
  • หนุนผู้ส่งออกสินค้าเกษตรใช้เรือแบบเทกอง-ส่งออกไปจีนใช้ทางบก
  • พร้อมหารือ “บิ๊กตู่” ขอเปิดด่านการค้าชายแดนเพิ่มอีก 3 แห่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 1/64 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก โดยในเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า ที่เป็นปัญหาไปทั่วโลก สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วบางส่วน โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย อนุญาตให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือขนาด 400 เมตร สามารถเข้าเทียบท่าที่แหลมฉบัง และรับสินค้าไทยได้เลย โดยจะใช้เวลาออกใบอนุญาตให้ภายใน 1 วัน และใบอนุญาตมีอายุ 2 ปี จากเดิมที่จะอนุญาตเฉพาะเรือขนาดเล็ก หรือไม่เกิน 300 เมตรเท่านั้น  

สำหรับการอนุญาตให้เรือขนาดใหญ่เข้ามา จะทำให้มีตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาได้มากขึ้น และยังประหยัดค่าใช้จ่าย จากเดิมที่เรือ 400 เมตรเทียบท่าที่ไทยไม่ได้ ต้องเทียบที่สิงคโปร์ และต้องยกสินค้าลงเรือเล็กเพื่อมาส่งที่ไทย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการยกของขึ้น-ลงเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเรือใหญ่เทียบท่าที่ไทย จะไม่ต้องเสียค่ายกของขึ้น-ลงหลายครั้ง

นอกจากนี้ สำหรับสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ จะให้ผู้ส่งออกหันไปส่งออกด้วยเรือแบบเทกอง (Bulk) แทน เช่น สินค้าเกษตร ยางพารา มะพร้าว ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมเรือ bulk ไว้จำนวนหนึ่งแล้ว และจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.พ.64 เพื่อลดการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ และจะมีมาตรการจูงใจให้สายการเดินเรือ นำตู้เปล่าเข้ามาไทยมากขึ้น เช่น ลดค่าธรรมเนียมนำเข้าตู้เปล่า ซึ่งการท่าเรือ จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ คาดว่า น่าจะเร็วที่สุดภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ส่วนสินค้าที่ส่งออกไปจีน จะใช้เส้นทางทางบกให้มากขึ้น  

ส่วนปัญหาการปิดด่านการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 นั้น ล่าสุด ได้เร่งรัดให้เปิดแล้ว 40 จุด จากทั้งหมด 97 จุด และตั้งเป้าหมายจะเร่งรัดเปิดอีก 3 ด่าน คือ 1.ด่านป่าแซง จ.อุบลราชธานี 2.ด่านเชียงคาน จ.เลย และ3.ด่านท่าเรือหายโศก จ.หนองคาย โดยตนจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายต่อไป

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อการค้าและภาคธุรกิจของไทย เพราะยังค้าขายได้ตามปกติ สินค้ายังขนส่งกันได้ปกติ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานกลับมาทุกวัน โดยกระทรวงพาณิชย์จะอัพเดตสถานการณ์ในเมียนมาผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน พร้อมกันนั้น ยังได้ประเมินสถานการณ์ส่งออกไทยในปี 64 โดยภาคเอกประเมินว่า จะขยายตัว 3.5-4% จากปี 63 ที่ติดลบ 6% ส่วนกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึง 4%