จับตา! โควิดสายพันธุ์อินเดีย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 230 ราย ลาม 10 จังหวัด

  • ห่วงอุดรธานีพบ 17 ราย
  • จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ

วันที่ 7 มิ.ย.2564 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬ่ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ ศุภกิจ กล่าวว่า หลังจากได้มีการเฝ้าระวังการกลายพันธ์ุของโควิด-19 ในประเทศไทย มีการถอดพันธุกรรมทั้งตัวของเชื้อไวรัสที่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ใน 3,964 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ หรือ 90% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อัลฟ่า ทำให้อาจสรุปได้ว่าขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษครองเมืองอยู่

สำหรับสายพันธุ์อินเดีย ที่พบในแคมป์คนงานในพื้นที่หลักสี่เป็นจุดแรก และกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันตรวจเจอแล้ว 230 ราย หรือ 6% พบมากสุดในพื้นที่กทม.206 ราย นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่ นอกจากนี้ยังมีบุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย สระบุรี 2 รายที่น่าห่วงคือ อุดรธานี 17 ราย จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (หรือสายพันเบต้า) เริ่มต้นจากการข้ามมาจากมาเลเซียอยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนถึงวันนี้ตรวจเจอ 26 ราย มีการตรวจจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง แต่ยังพบอยู่ที่นราธิวาสอย่างเดียว แต่วางใจไม่ได้ ต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด แพร่ออกมาข้างนอกช้าสุด นอกจากนี้ ยังเจอสายพันธุ์ B.1.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สนใจของประเทศเพื่อนบ้าน เจอในนราธิวาสและปัตตานี 10 ราย แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล ต้องจับตาดูข้อมูลเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากเราถอดพันธุกรรมทั้งตัวของเชื้อไวรัสเราจะได้ข้อมูลโดยละเอียด และทราบเส้นทางการมาของเชื้อไวรัสซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะประเทศในโลกเลยไม่ได้ตรวจแบบนี้ได้ทุกประเทศ บางประเทศที่ไม่สามารถตรวจได้ก็ไม่มีรายงาน เราจึงค่อนข้างบอกยากว่าเชื้อมาจากไหน

ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ว่า จากข้อมูลที่มีรายงานทั่วโลก การกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไวรัสโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของไวรัส ไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่ายก็จะแพร่ขยาย และกลบสายพันธุ์เดิมที่มีการแพร่กระจายได้น้อยกว่า แต่เดิม สายพันธุ์อู่ฮั่น เรียกง่าย ๆ เป็นสายพันธุ์ S และ L สายพันธุ์ L แพร่ได้มากกว่า จึงกระจายมากในยุโรปและการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ V ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายจึงกระจายทั่วโลกและแทนที่ สายพันธุ์อู่ฮั่น หลังจากนั้นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่กระจายได้ง่ายจึงกลบสายพันธุ์ G เดิม ตอนนี้มีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ที่แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาเข้ามา ทำให้เกรงกันว่าสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ระบาดเพิ่มขึ้น และมาแทนสายพันธุ์อัลฟาในอนาคต ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สายพันธุ์ดังกล่าวคือ เบตา และ แกมมา ทั้งสองสายพันธุ์แพร่กระจายได้น้อยกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า และเดลตา การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ในคนไทยที่กลับจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อSAR-CoV-2 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีตรวจเฝ้าระวังการกลายพันนธุ์ที่แม่นยำและทำได้รวดเร็ว ในขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ใน State Quarantine และ Alternative state quarantine อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่เข้ามาทางสนามบิน จะมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่กระจายโรค ที่ผ่านมาการระบาดเกิดจากการลักลอบผ่านชายแดนเข้ามา ขอฝากประชาชนที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบผ่านชายแดนเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แจ้งเบาะแส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์น่ากังวล เพราะเชื้อเหล่านี้จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงในประเทศไทยได้