จับตาประชุมกนง.-ตัวเลขส่งออก คาดเงินบาท 35.70-36.40 บาท

สรุปค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ อ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน จับตาสัปดาห์หน้าผลประชุมกนง. และตัวเลขการส่งออกไทย คาดกรอบเงินบาท 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

  • ค่าเงินบาทรอบสัปดาห์ อ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือน
  • จับตาสัปดาห์หน้าผลประชุมกนง.
  • และตัวเลขการส่งออกไทย

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าผ่านแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 36.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟด โดยมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดที่เปลี่ยนแปลงไปใน dot plot

ซึ่งบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับทบทวนขึ้น สะท้อนสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่องของเฟด แม้ในการประชุมรอบนี้ เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% และเปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ไว้ตามเดิมก็ตาม

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการออกพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปีงบประมาณหน้า อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยอาจเป็นการปรับโพสิชันของตลาดก่อนการประชุม กนง. ในวันที่ 27 ก.ย. นี้

ในวันศุกร์ที่ 22 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,606 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 5,701 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,208 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 493 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (25-29 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (27 ก.ย.) และตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนส.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และค่าเงินหยวน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองผู้บริโภคเดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของจีน และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน ด้วยเช่นกัน