ค้านหัวชนฝาขึ้นค่าแรงอัตราเดียวทั่วประเทศ400บาท

  • สมาชิกสภาหอทั้งไทย-เทศทั่วประเทศไม่เห็นด้วย
  • เหตุศก.ผันผวน-นายจ้างยังไม่มีศักยภาพจ่ายเพิ่ม
  • ลั่นขึ้นแบบก้าวกระโดดนักลงทุนย้ายฐานผลิตแน่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ที่สำรวจจากสมาชิกทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นหอการค้าจังหวัด 76 จังหวัด หอการค้าต่างประเทศ 35 ประเทศ สมาคมการค้า 138 สมาคม รวม 1,355 กลุ่ม ซึ่งมีทั้งขนาดธุรกิจเล็ก กลาง และใหญ่ ระหว่างวันที่ 12-25 ก.ค.62 ว่า ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบ 93.9% ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน มีเพียง 6.1% เท่านั้นที่ตอบเห็นด้วย

สำหรับผู้ที่ตอบไม่เห็นด้วย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังผันผวนและภาคเอกชนยังไม่มีศักยภาพพอที่จะจ่ายเงินเพิ่มค่าจ้างแบบก้าวกระโดดถึง 30% หรือคิดเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 20,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 240,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ส่งผลต่อการลงทุนในประเทศ และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศ เพราะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด อีกทั้งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต, ส่งผลให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น, ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ไม่สามารถปรับตัวได้ รวมถึงจะกระทบต่อภาคเกษตร และท่องเที่ยวและบริการ เพราะยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยี หรือหุ่นยนต์แทนแรงงานคนได้ทันที

“นโยบายขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศอีก 400 บาทต่อวัน เป็นการหาเสียงของฝ่ายการเมือง ที่ส่งสัญญาต่อประชาชนแบบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่จะบังคับให้นายจ้างงานควักเงินในกระเป๋าเดือนละ 20,000 ล้านบาท และเป็นการปรับขึ้นแบบไม่สอดคล้องกับหลักการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนพร้อมที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ทุกอย่างต้องให้คณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด เสนอมาให้คณะกรรมการไตรภาคีในส่วนกลางพิจารณาก่อน ที่สำคัญค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ”+ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกังวลกับการเลือกตั้งของไทยในแต่ละครั้ง เพราะพรรคการเมืองจะนำนโยบายการขึ้นค่าแรงมาหาเสียงทุกครั้ง หากปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดอีกเหมือนกับที่ผ่านมาที่เคยปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ อาจเกิดการย้ายฐานการผลิต หรือรายใหญ่อาจไปลงทุนในเวียดนาม ที่ค่าจ้างยังถูกกว่าไทยแทน