คลัง เสนอปลดล็อกเงื่อนไขเครดิตบูโร สำหรับลูกหนี้เคยค้างชำระหนี้ แต่เคลียร์หนี้จบแล้ว

  • ไม่ต้องอยู่ในบัญชีดำเป็นเวลา 2 ปี
  • เพื่อมิให้หันไปใช้บริการเงินกู้นอกระบบ
  • พร้อมให้นอนแบงก์ร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโร

นายสันติ พร้อมพัฒน์  รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (18 ต.ค.) เกี่ยวกับข้อเสนอของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโรที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 โดยนำสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) เช่น ธุรกิจลีสซิ่ง เช่าซื้อ รวมไปถึงนาโนไฟแนนซ์ และฟิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น ให้เป็นสมาชิกเพื่อนำส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประเมินสินเชื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น  

ทั้งนี้ในการนำกลุ่มนอนแบงก์ เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะมีฐานข้อมูลการปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีความเป็นห่วงในประเด็นความไม่เป็นธรรมและสร้างผลกระทบให้กับประชาชนระดับล่างไปจนถึงระดับกลาง ที่อาจประสบปัญหาการกู้เงินในระบบได้ในอนาคต เนื่องจากเงื่อนไขเครดิตบูโร  มีเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นหนี้เสียขาดการชำระหนี้เกิน 3 เดือน และถึงแม้จะชำระหนี้ค้างจ่ายคนครบถ้วนหมดแล้ว แต่ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำไปอีก 2 ปี  ทำให้ไม่สามารถไปขอกู้ในระบบได้ ดังนั้นจึงเสนอให้เครดิตบูโร แก้ไขประเด็นนี้ ด้วย เพื่อให้ผู้กู้พ้นการถูกขึ้นบัญชีดำทันที  

“ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนถึงก็กรณีการถูกขึ้นบัญชีดำมาที่กระทรวงการคลังมากกว่า 1 ล้านราย เพราะไม่สามารถกู้ในระบบได้ เพราะถูกขึ้นบัญชีดำ ทั้งๆที่ผ่อนชำระครบถ้วนหมดแล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นห่วง เมื่อนอนแบงก์เข้าระบบเครดิจบูโร แต่ยังมีเงื่อนไขห้ามปล่อยกู้ผู้ที่เคยมีประวัติค้างชำระหนี้ไว้ 2 ปี ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เคยเป็นหนี้เสีย ก็จะไม่สามารถไปกู้เงินในระบบได้เลย จึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูง เมื่อกู้หนี้นอกระบบ ก็จะมีผลต่อหนี้ครัวเรือนในอนาคตด้วย ดังนั้นต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้ แต่ได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ส่วนผู้ที่เป็นหนี้เสีย และยังไม่เคลียร์หนี้เดิม ก็ยังคงอยู่ในเงื่อนไขบัญชีดำต่อไป” 

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการคลังจะมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่างรายละเอียด นำไปสู่การแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดงกล่าว  ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากเรื่องกฎหมายเครดิตบูโรจะต้องมีการแก้ไขในบางประเด็นอยู่แล้ว หากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะเดินหน้าเสนอครม. อนุมัติต่อไป เพื่อเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป