

- เหตุไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
- แรงงานลดน้อยลงส่งผลให้คนเสียภาษีลดลงด้วย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผมกังวลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ที่ลดลงเรื่อยๆ มาก เพราะจะทำให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในระยะยาวได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามในอดีตการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่อจีดีพีอยู่ที่ 18 % จากปัจจุบันอยู่ที่ 14% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้มากพอที่จะทำนโยบายการคลังแบบขยายตัวในอนาคต
“ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจไทยในปีที่แล้วขยายตัวแบบติดลบ ทำให้การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ไม่สามารถทำได้ เพราะประชาชนและผู้ประกอบการยังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ ดังนั้นในปีนี้กระทรวงการคลัง จะใช้เวลาในการศึกษาการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจึงค่อยนำมาปฏิบัติ”
ผู้สื่อข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยเก็บอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 20 % ของกำไรสุทธิ ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยเก็บภาษีอยู่ในอัตราที่ 35 %
สำหรับปัจจัยเร่งที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปภาษีเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคตคือ การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังแรงงานลดน้อยลง หมายถึงฐานภาษีในอนาคตก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ในปี2564 ประเทศไทยมีผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ 16.8 % ของจำนวนประชากร คาดว่าปี 2568 ประชากรสูงอายุของไทยจะขึ้นไปอยู่ที่ 20 %
นอกจากนี้ปัจจัยเร่งที่ทำให้ต้องปฏิรูปภาษีก็คือ การที่ประเทศจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ต้องใช้งบประมาณลงทุนมหาศาล