“คลัง” ส่งสัญญาณแบงก์รัฐ ช่วยตรึงดอกเบี้ย ช่วยชาวบ้าน

Interest rate on financial businessman hand and mock interest rate added top with percentage symbol.


“อาคม”​ สั่งสถาบันการเงินรัฐ ตรึงดอกเบี้นเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารรัฐต้องตั้งสำรอง และทำตามเกณฑ์ของ ธปท.

  • ยอมรับดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบประชาชน
  • เอสเอ็มอีแบงก์ โชว์ไม่ขึ้นดอกกู้
  • ธนาคารรัฐต้องตั้งสำรอง และทำตามเกณฑ์ของ ธปท.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพิ่มเป็น 2.25%นั้น กระทรวงการคลัง  ได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ก่อน หรือหากจำเป็นต้องปรับขึ้น ขอปรับขึ้นให้น้อยที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้กู้ ซึ่งส่วนใหญ่ต่อผู้มีรายได้น้อย แต่บางธนาคารอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากบ้าง เพื่อบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อ  

ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้วแบงก์รัฐ ได้ตรึงอัตราดอกเบี้ย ช่วยเหลือประชาชนจนถึงที่สุด ส่วนปีนี้อาจต้องปรับขึ้นเล็กๆน้อยๆ โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝาก ต้องปรับขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่อง ส่วนการปล่อยกู้ เมื่อมีต้นทุนทางการเงิน ต้องปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้อง อย่างไรก็ดี การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่ละแบงก์ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาความต้องการสภาพคล่องที่แตกต่างกัน แต่จะพยายามให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

นายอาคมกล่าวว่า กรณีที่มีการประเมินว่า กนง. มีแผนอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปี 66 นี้ จะต้องมีการหารือร่วมกันแบงก์รัฐอีกรอบว่าสถานการณ์แต่ละแบงก์เป็นอย่างไร หากธนาคารรัฐยังสามารถบริหารสภาพคล่องได้ ก็ขอให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน เนื่องจากยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจกระทบต่อภาระการชำระหนี้ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ดังนั้น นโยบายในการดูแล คือ พยามยามกำชับให้แบงก์รัฐมีการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การยืดหนี้ และปรับค่างวดการผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างออกมาตรการช่วยแก้หนี้อยู่ 

ส่วนกรณีแบงก์รัฐตั้งสำรองผลขาดทุนสูงนั้น เป็นการตั้งตามเกณฑ์ ซึ่งต้องตั้งไว้สูงตามมาตรฐาน ขณะนี้การทำบัญชี ยังไม่ได้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (ทีเอฟอาร์เอส 9) เนื่องจากมีเวลากว่า 1 ปี แต่ธนาคารรัฐต้องตั้งสำรอง และทำตามเกณฑ์ของ ธปท.  

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  แม้จะทำให้ธนาคารมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น แต่เนื่องจาก ธนาคารมีภารกิจหลักช่วยเหลือ เอสเอ็มอีไทย จึงจะคงดอกเบี้ยเดิมไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยลดผลกระทบ บรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงให้เอสเอ็มอีไทยมีเวลามากเพียงพอในการวางแผนบริหารจัดธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ภายใต้แนวโน้มต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น