

- ขยายตัว 5.66%จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- หนี้SM พุ่งเป็น 2.31 แสนล้านบาท
- ตั้งสำรองหนี้สูญสูงถึง 337.8%ของหนี้เสียรวม
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยภาพรวมการดำเนินงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ)ในรอบเดือนมี.ค.2564 ว่า ยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 5.27 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า 0.45% โดยยอดเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลจากการเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19แก่ภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าว
ส่วนเงินรับฝากขยายตัว 6.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัว 0.57% จากเดือนก่อนหน้า โดยมียอดเงินฝากรวมที่ 5.52 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดเงินฝากที่ 5.17 ล้านล้านบาท
สำหรับหนี้เสียของแบงก์รัฐนั้น หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า 186,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.08% ของสินเชื่อรวม ขณะที่ แบงก์รัฐได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง 337.89% ของหนี้เสียรวม ทั้งนี้ หนี้เสียดังกล่าวลดลงจากเดือนธ.ค.2563 ที่อยู่ในระดับ 3.21% ส่วนช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3.89%
ด้านหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือนหรือ SM ของแบงก์รัฐได้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาเป็น 230,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.53% ของสินเชื่อรวม โดยเดือนธ.ค.2563 อยู่ที่ 3.37% ของสินเชื่อรวม และ ช่วงเดียวกันของก่อนอยู่ที่ 4.04% ของสินเชื่อรวม
ด้านเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงนั้น อยู่ที่ 13.94% ลดลงเล็กน้อยจากเดือนธ.ค.ที่อยู่ในระดับ 13.95% แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 13.92% ถือว่า เพียงพอต่อการดำเนินงานระยะต่อไป
สำหรับผลกำไรของแบงก์รัฐอยู่ที่ 18,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 253.17% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 5,310 ล้านบาท
ทั้งนี้ในภาพรวมผลการดำเนินงานของแบงก์รัฐท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่แบงก์รัฐเป็นสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยระดับเงินกองทุนยังแข็งแกร่ง ผลกำไรก็ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนี้เสียนั้น และหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ระหว่าง 1-3 เดือนนั้น ก็ถือว่า อยู่ในระดับที่รับได้ เพราะตอนนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะได้รับความเดือดร้อน