“คลัง”ถกธปท. รื้อเกณฑ์พ.ร.ก.ซอฟต์โลนดึงรายใหญ่เข้าถึงเงินกู้-ตั้งโกดังพักหนี้ ภายใน 2 เดือน



  • ชงผ่อนปรนระยะเวลาการกักตัว
  • หวังดึงดูดต่างชาติเที่ยวไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด2564” ว่า ได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปรับเกณฑ์การใช้เงินพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)​เงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)​ที่เหลืออยู่มากกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อให้เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ โดยจะแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เงินก้อนแรกยังเป็นรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ปรับเงื่อนไขใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมกำหนดให้เฉพาะเอสเอ็มอีรายย่อยเท่านั้น แต่ของใหม่จะปรับให้ธุรกิจรายใหญ่เข้ามายื่นขอกู้ได้ด้วย รวมถึงจะมีการขยายวงเงินกู้ต่อราย จากเดิม 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 500 ล้านบาท และอาจให้ธนาคารปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 % จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้เดิมได้ เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนวงเงินอีกก้อน จะนำมาจัดทำโครงการโกดังพักหนี้ (Asset Ware Housing) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ให้สามารถนำทรัพย์สิน มาขายฝากกับสถาบันการเงินได้ และในระหว่างนั้น สามารถจ่ายค่าเช่ากับธนาคาร สามารถประกอบกิจการต่อไป และเมื่อระยะเวลาหนึ่ง สามารถกลับมาซื้อคืนได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยรัฐบาล พร้อมจะแก้ไขกฎระเบียบและเรื่องการยกเว้นภาษี เพื่อช่วยเหลือให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้บริหารจัดการเอง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้

“การปรับปรุงพ.ร.ก.ซอฟต์โลนนี้ ต้องมีการจัดทำเป็นพ.ร.ก.ฉบับใหม่ขึ้นใช้ทดแทนฉบับเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเงื่อนไขรายละเอียดกับแแบงก์ชาติ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะแบ่งวงเงินการใช้จำนวนเท่าใด ส่วนเรื่องโครงการโกดังพักหนี้ เท่าที่ทราบ แบงก์ชาติ กำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อกำหนดกติกา การตีมูลค่าทรัพย์สิน”

นายอาคม กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะหารือกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อหาแนวทางขยายโครงการเราเที่ยวกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเข้ามาในประเทศไทย ได้ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ หลังเกิดการระบาดโควิด-19ระลอกใหม่ จากเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทย 8 ล้านคน แต่ต่อมาปรับลงเหลือ 5 ล้านคน ล่าสุดก็ไม่รู้จะเหลือยอดนักท่องเที่ยวจำนวนเท่าใด เนื่องจากแผนการเปิดประเทศมีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ดังนั้นจึงต้องพึ่งตัวเองด้วยการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ขณะนี้หลายฝ่ายประมาณการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนกันได้ในปี 2566-2567

“ขณะนี้ได้หารือหลายประเทศ เพื่อเปิดให้เดินทางเข้ามาในประเทศ อาจผ่อนปรนระยะเวลาการกักตัว เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติมาเที่ยวไทย อย่างไรก็ตามปีนี้ ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก มาตรการต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ 2.8% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่น่าพอใจ เนื่องจากยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพที่มีอยู่ โดยปีนี้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น เช่นคนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน และอื่นๆ โดยเฉพาะเราชนะ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-จนถึงปัจจุบัน มีการใช้จ่ายผ่านโครงการเราชนะในเมืองรองถึง 60% ส่วนที่เหลือใช้จ่ายในเมืองหลัก ถือเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับฐานรากให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”