ครม.ไฟเขียว3มาตรการให้ทอท.เยียวยาคู่สัญญา4บริษัท

.ชี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับการบินไทย

พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัฒน์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนตามนัยมาตรา 64 และมาตรา 68 (3) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวม 4 สัญญา เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศอันนำไปสู่การปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนเกิดผลกระทบต่อเนื่องระหว่างเดือนเม.ย.– ธ.ค. 2553 เป็น เวลา 9 เดือน


ประกอบด้วยร่างสัญญาของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.กับเอกชน ดังนี้ 1. โครงการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด 2. โครงการอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด 3. โครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 4. โครงการครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับบริษัท แอลเอสจี สกายเชฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โดยมาตรการช่วยเหลือ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เลื่อนการเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนอัตราร้อยละและอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำของปีสัญญาที่ 2 ไปเป็นอัตราร้อยละและอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำในปีสัญญาที่ 4 และปีสัญญาที่ 5 มาตรการที่ 2 ยกเว้นค่าตอบแทนขั้นต่ำ 9 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – ธันวาคม 2553 (กรณีค่าตอบแทนที่คำนวณจากอัตราร้อยละสูงกว่าอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำให้เรียกเก็บเงินค่าตอบแทนในอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำ)

มาตรการที่ 3 เลื่อนการเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนอัตราร้อยละและอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำของปีสัญญาที่ 3 ไปเป็นอัตราร้อยละและอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำในปีสัญญาที่ 6 และตั้งแต่ปีสัญญาที่ 4 เป็นต้นไปให้เลื่อนอัตราร้อยละและอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้เป็นลักษณะเดียวกันกับการเลื่อนอัตราร้อยละและอัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำของปีสัญญาที่ 3 เป็นปีสัญญาที่ 6 จนครบกำหนดอายุสัญญา 20 ปี

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่าแม้เหตุการณ์จะเกิดตั้งแต่ปี 2553 และได้ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทอท.ยืนยันว่ายังมีความจำเป็นต้องเสนอครม.เพื่อพิจารณาการชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการในขณะที่การบินไทยซึ่งเป็นผู้ประกอบการในโครงการลักษณะเดียวกันกับเอกชนที่ร่วมลงทุนได้รับความช่วยเหลือไปแล้วส่งผลให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่างกันจึงเห็นว่าควรให้ความช่วยเหลือเป็นมาตรการที่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการทุกรายโดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ขณะที่ กระทรวงการคลังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการชดเชยในครั้งนี้จะ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของทอท. ดังนั้น ทอท. ควรตรวจสอบมูลค่าความช่วยเหลืออย่างรอบคอบและเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์ของ ทอท.ด้วย