ครม.อนุมัติปรับแผนหนี้สาธารณะพุ่ง 56.74%ต่อจีดีพี รัฐกู้เพิ่ม7.4หมื่นล้าน



นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีแผนก่อหนี้ 1,539,832.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74,394.17 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท แผนบริหารหนี้เพิ่มเป็น 1,403,981.17 ล้านบาทเพิ่ม 124,534.37 ล้านบาท จากเดิม 1,279,446.80 ล้านบาท และชำระหนี้ 387,860.72 ล้านบาท เพิ่ม 505.88 ล้านบาทจากเดิม 387,354.84 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังการปรับปรุงหนี้แล้วจะทำให้หนี้สินต่อจีดีพีของประเทศ เป็น 56.74% ซึ่งยังไม่เกินเป้าหมาย 60% ตามกรอบนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยแผนหนี้สาธารณะปรับปรุงใหม่สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยได้บรรจุให้ รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถกู้เงินเพื่อและบริหารหนี้ได้

สำหรับรายละเอียด การกู้เงินเพิ่ม ตามแผนก่อหนี้ใหม่ของภาครัฐ 66,687.92 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 608,962.48 ล้านบาทเพิ่ม 14,037.52 ล้านบาทจากเดิม 623,000 ล้านบาท รัฐบาลกู้เงินตามแผนโควิด-19 626,239 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 76,239 ล้านบาทจากเดิม 550,000 ล้านบาท รัฐบาลกู้เงินเพื่อทำรถไฟช่วงบางชื่อ-รังสิต วงเงิน 65,732.68 ล้านบาทเพิ่มขึ้น4,907.57 ล้านบาทจากเดิม 60,825.11 ล้านบาท การกู้เพิ่มเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง 98,578.87 ล้านบาทเพิ่ม421.13 ล้านบาท จากเดิม 99,000 ล้านบาท

ส่วนแผนการกู้ใหม่ของรัฐวิสหาหกิจ เพิ่มขึ้น 7,706.25 ล้านบาท ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)กุ้เงิน 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาทจากเดิม 3,000 ล้านบาทโดยกู้เพิ่มเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า รฟท.กู้เงินเพื่อจัดหารถจักรและอะไหล่ 4,344.15 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 986.25 ล้านบาท จากเดิม 3,387.90 ล้านบาท และกู้เงินเพิ่มเพื่มเสริมสภาพคล่องให้ บริษัท อสมท จำกัด วงเงิน 2,250 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 750 ล้านบาทจากเดิม 1,500 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ลดลง

นายอนุชา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะโครงการลงทุน ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 ฯ รวมทั้งเตรียมความพร้อมจัดหาแหล่งเงินให้เพียงพอทั้งในภาวะปกติและภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐมีความต่อเนื่อง เพียงพอและทันการณ์ด้วย