ครม.ผวาความเสี่ยงทางการคลัง สภาพคล่องตึงตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด จนเก็บภาษีหลุดเป้า



  • ถึงเวลาปฏิรูปโครงสร้างภาษี
  • ขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้หารือวิธีการที่จะสร้างรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค พร้อมกันนี้ได้พิจารณาถึงเรื่องความเสี่ยงของสถานะการเงิน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงมีการระบาดของโควิด-19 และช่วงที่ผ่านมาที่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งในการทำจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้ขอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ปักหมุด 13 เรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย วิถีชีวิตที่ยั่งยืน การกระจายโอกาสที่กระจุกตัวให้เข้าสู่กลุ่มคนทุกพื้นที่ ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศการสร้างทรัพยากรมนุษย์พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครม.ได้รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 ตามที่กระทรวงการคลังรายงาน พบว่า ความไม่แน่นอนของการจัดเก็บรายได้ท่ามกลางสถานการณ์ได้โควิด-19 สร้างความตึงตัวด้านสภาพคล่องทางการคลัง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 49.34% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้ง ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปีงบประมาณ 2565-2568 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสิ้นปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 58.72 % แต่ยังคงไม่เกิน 60% ด้านประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากเม็ดเงินของดอกเบี้ย ที่เพิ่มขึ้นตามระดับหนี้ และจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลยังคงมีแรงกดดันจากผลประกอบการในปี 2563 ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2564 ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อภาษีจากฐานบริโภคของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สะท้อนถึงกลไกการกระจายรายได้และการสร้างเสถียรภาพในตัวเองของระบบภาษีของประเทศไทยที่อาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงมีข้อเสนอแนะคือ ในระยะสั้นถึงปานกลาง รัฐบาลจะต้องพิจารณาแนวทางเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากการจัดเก็บรายได้ และควรชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณโดยให้หน่วยงานเบิกจ่ายเท่าที่จำเป็นต้องใช้จ่ายจริง และพิจารณาอนุมัติการใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่าที่จำเป็น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยอย่างพอเพียง เพื่อป้องกันการผิดชำระหนี้ของรัฐบาล
ส่วนข้อเสนอระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษี และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และควรพิจารณาปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชน บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดทำสวัสดิการ รวมทั้งรัฐบาลควรพิจารณาขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพื่อให้โครงการลงทุนภาครัฐยังสามารถเป็นเครื่องกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง