คมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีขอใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ที่เป็นข้อยกเว้น แทน พ.ร.บ.ระเบียบจัดซื้อพัสดุเพื่อเร่งจัดสรรงบฯ มาซ่อมถนน สะพาน ที่เสียหายทั่วไทยหลังเจอน้ำท่วมซัดพังยับ



กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี  ขอใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง  ที่เป็นข้อยกเว้น ตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เร่งรัดขอจัดสรรงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนและสะพานที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยเพื่อฟื้นฟูให้ประชาชนกลับมามีเส้นทางใช้ประโยชน์ได้โดยเร็ว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่จนทำให้ถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท(ทช.)เสียหายจำนวนมากนั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบท ว่า ในปัจจุบันมีถนนที่ประสบอุทกภัยเสียหายรวมใน 32 จังหวัดจำนวน 172 สายทาง โดยในจำนวนนี้ เป็นถนนที่ได้รับความเสียหายจนทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ถึง 99 สายทาง ทั้งนี้จะเห็นว่าในแนวทางการฟื้นฟูเส้นทางถนนที่เสียหายที่ผ่านมา จะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเข้ามาซ่อมบำรุง และเข้าสำรวจว่าจะต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงเท่าใด ซึ่งการจะสำรวจและเข้าซ่อมจะดำเนินการได้ภายหลังน้ำลด เพื่อทราบความเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น ซึ่งจากเหตุการณ์และสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการขอรับจัดสรรงบประมาณในการซ่อมบำรุง จากเดิมที่ต้องดำเนินการตามระเบียบพัสดุฯ ตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาใช้ข้อยกเว้นโดยขอใช้ระเบียบกระทรวงการคลังที่มีอยู่ใน พ.ร.บ .ฯ ฉบับดังกล่าว เพื่อให้การซ่อมบำรุงเกิดความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอขอใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง แทนระเบียบพัสดุฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการ

“ที่ผ่านมาการใช้ระเบียบพัสดุทั่วไป มีระเบียบเยอะมากทั้งเรื่องการกำหนดคุณสมบัติ  ของผู้รับเหมา  ขนาดของงาน และผลงานในอดีต ของผู้รับเหมา  ทำให้เกิดความล่าช้า  ทั้งๆ ที่บางจุด  บางพื้นที่มูลค่าความเสียหายของถนนไม่ได้มาก  โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้น  บางครั้ง  ดำเนินการในปีก่อนหน้า   งานก่อสร้างยังไม่ทันเสร็จ  ปีต่อมาน้ำก็ท่วมซ้ำอีก แต่ที่สำคัญคือการเร่งซ่อมแซมผิวถนนและสะพานที่เสียหายให้ประชาชนกลับมาใช้งานได้อย่างสมบูรณ์โดยเร็ว  ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเดินทางระบบคมนาคม  หลังอุทกภัยผ่านพ้นไป “  

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้ให้นโยบายกับกรมทางหลวงชนบท ถึงการดำเนินการก่อสร้างเส้นทางถนนทางหลวงชนบทสายใหม่ในอนาคตว่า ให้พิจารณาตามแนวทางที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบการสร้างถนน เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางและเกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง  เช่น การนำเทคโนโลยีมาขุดเจาะอุโมงค์ หรือ เจาะภูเขาเพื่อก่อสร้างทาง เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมานั้น การก่อสร้างเส้นทางถนนในประเทศไทย  มักจะก่อสร้างเส้นทางไปตามลักษณะกายภาพของธรรมชาติบางครั้งหลายเส้นทางไปผ่านพื้นที่เขา  ก็ตัดถนนลัดเลาะตามไหล่เขา  ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้งบประมาณเยอะ   อีกทั้งยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางเมื่อสร้างเสร็จในหลายๆจุด แต่หากสามารถนำเทคโนโลยีการก่อสร้างอุโมงค์มาปรับปรุงเพื่อเสริมให้การก่อสร้างทางสามารถตัดเส้นทางได้ตรง   นอกจากช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางแล้วยังลดปัญหาอุบัติเหตุลงได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นอกจากอุทกภัย ที่ท่วมถนนในกำกับดูแลของ ทช. เมื่อคืนที่ผ่านมา  (21.00 น.) กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานสถาณการณ์อุทกภัย ในเขตถนนของ ทล.พบว่า มีสภาพน้ำท่วมและดินสไลด์ 21จังหวัด  รวม 78 แห่ง การจราจรผ่านได้ 50 แห่ง,ผ่านไม่ได้ 28 แห่ง  คือ จ.ขอนแก่น ,ศรีสะเกษ,สุรินทร์ ,บุรีรัมย์ ,จ.นครราชสีมา,หนองบัวลำภู ,อุบลราชธานี ,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,จ.ยโสธร ,จ.สระบุรี ,ลพบุรี ,สุพรรณบุรี,อ่างทอง ,พระนครศรีอยุธย  ,สิงห์บุรี,นครสวรรค์,อุทัยธานี,ปราจีนบุรี ,เพชรบุรี และ  กาญจนบุรี