

คมนาคมเดินหน้าสร้างรถไฟไทย-จีน ต่อจรดปากกาลงนามก่อสร้างงานโยธาอีก 3 สัญญา คาดให้บริการได้ทั้งเส้น กทม.-หนองคาย ในปี 69-70 ฝันเดินหน้าขยายเส้นทางลงใต้ เชื่อมโยงไปมาเลเซียและสิงคโปร์ ผ่านจุดตัดสำคัญแลนด์บริดจ์ ที่จะเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ครบวงจร ส่วนต่อขยาย โคราช-หนองคาย อยู่ระหว่างดำเนินการคาดได้ข้อสรุปเดือน ก.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เเปิดเผยภายหลังป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกทม. – นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญาว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ไทย จีน โดยมี 3สัญญาวงเงินรวมกว่า 27,527 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ เป็นงานโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 23 กม. , งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง วงเงินก่อสร้างกว่า 11,525 ล้านบาท ,สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6,573 ล้านบาท และ สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี วงเงินก่อสร้าง 9,428,9 ล้านบาท โดยทั้ง 3 สัญญา มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมทั้งโครงการ รวมถึงช่วง นครราชสีมา-หนองคายและจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 69 อย่างช้าปี 70


ทั้งนี้ภาพรวมของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกทม. – นครราชสีมา มีทั้งหมด 14 สัญญา ลงนามก่อสร้างได้แล้ว 10 สัญญา เหลือเพียง 4 สัญญาที่ยังติดปัญหาข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเร่งแก้ปัญหาและเดินหน้าให้ได้ภายในปีนี้ และการก่อสร้างโครงการจะทำได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการขยายเส้นทางลงใต้ เชื่อมโยงไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ผ่านจุดตัดสำคัญคือ แลนด์บริดจ์ ที่จะเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ครบวงจร ส่วนความคืบหน้าของการขยายเส้นทางรถไฟไทย-จีน จากช่วง นครราชสีมา-หนองคายนั้น ขณะนี้นั้นอยู่ระหว่างการเำเนินการคาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในเดือน ก.ค. นี้


ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ทั้งนี้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกทม. – นครราชสีมา) ถือเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางของไทย อาเซียนและจีนให้เป็นหนึ่งเดียว โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ
