คมนาคมจ่อชงของบกลาง 140 ล้านบาท ปรับแบบสร้างสะพานข้ามโขง แห่งที่ 7 รับ “ไฮสปีด-รถไฟทางคู่-รถยนต์”รองรับขนส่งสินค้า ไทย- ลาว-จีน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร(กม.) เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผน พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้นำบทเรียนจากเฟสที่ 1 โดยเฉพาะปัญหาการออกแบบมาใช้กับการก่อสร้างเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคายระยะทาง 356 กม. ด้วย ซึ่งทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) กลางปี 65 และเปิดประกวดราคา(ประมูล)ในปีนี้

นอกจากนั้นได้ให้เริ่มดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 3 ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ระยะทาง 16 กม. เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีนในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตามจากการหารือร่วมระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ได้ข้อยุติเบื้องต้นว่า ไทยจะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาสำรวจออกแบบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 หรือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว(หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่ 2) วงเงินประมาณ 140 ล้านบาท โดยจะขอใช้งบกลางและให้กรมทางหลวง(ทล.) เป็นผู้ดำเนินการ เพราะ ทล. มีประสบการณ์การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาแล้ว 6 แห่ง

สำหรับสะพานแห่งนี้เดิมจะรองรับแต่รถไฟเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อพิจารณาแล้วเมื่อสร้างสะพานแล้วก็ควรให้สามารถรองรับได้ทั้งหมด ทั้งรถยนต์, รถไฟไฮสปีด และรถไฟทางคู่ แบบไม่ต้องรอหลีก ต่างคนต่างมีทางของตัวเอง โดยวงเงินก่อสร้างสะพานแห่งนี้พร้อมโครงข่ายทางถนนสั้นๆ เบื้องต้นประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งตามปกติการก่อสร้างจะลงทุนคนละครึ่งระหว่างไทย-สปป.ลาว อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม(JC) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว เร็วๆ นี้ จะเจรจาเพื่อให้สปป.ลาว สร้างโครงข่ายทางถนน มารองรับการเชื่อมต่อกับสะพานแห่งนี้ด้วย โดยสะพานแห่งนี้ต้องแล้วเสร็จก่อนรถไฟไฮสปีดเฟส 2  ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการปี 71

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล. )กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า ทล. จะเสนอเรื่องขอใช้งบกลาง วงเงิน 140 ล้านบาทในการศึกษาสำรวจออกแบบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 มายังกระทรวงคมนาคม และคาดว่าน่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้ประมาณปลายเดือน ก.พ.นี้ ทั้งนี้จะใช้เวลาในการศึกษาสำรวจออกแบบประมาณ 1 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 66 โดยในระหว่างการศึกษาจะเชิญทาง สปป. ลาว และจีน เข้าร่วมด้วย สำหรับสะพานแห่งใหม่นี้จะตั้งขนาน และอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 50 เมตร

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า การศึกษาฯ ครั้งนี้ นอกจากจะศึกษารูปแบบการก่อสร้างสะพานที่จะมีทั้งรางรถไฟไฮสปีดขนาด 1.435 เมตร รถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และถนนแล้ว ยังต้องศึกษาระบบอาณัติสัญญาณต่างๆ ระบบเก็บค่าผ่านแดน ระบบความปลอดภัย และโครงข่ายถนนปลายสะพานฝั่งไทยด้วยว่า จะมีโครงข่ายเชื่อมโยงเส้นหลักใดบ้าง ขณะที่ฝั่ง สปป.ลาว ก็ต้องมีถนนรองรับด้วย โดยขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าปลายทางจะสิ้นสุดที่จุดใด ต้องรอดูผลศึกษาก่อน อย่างไรก็ตามปัจจุบันด่านหนองคาย และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เป็นจุดที่มีรถใช้บริการมากที่สุด เชื่อว่าเมื่อเปิดประเทศ และสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จะทำให้มีทั้งรถไฟ และรถยนต์วิ่งผ่านสะพานแห่งนี้มากขึ้นแน่นอน