คนไทยร่วมเฮ!วัคซีนของแอสตราเซเนกา-ออกซฟอร์ดได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเรียบร้อยแล้ว



  • เตรียมใช้วัคซีนแอสตาเซเนกาคุ้มกันประชาชนวันที่ 4 ม.ค นี้
  • ชี้เป็นวัคซีนที่ไทยร่วมลงขันวิจัยและพัฒนา 2,379 ล้านบาท

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวันนี้(30 ธ.ค)ว่า กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่าได้ยอมรับคำแนะนำจากสำนักงานกำกับผลิตภัณฑ์ยาและการดูแลสุขภาพอังกฤษ MHRA (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency)ให้อนุมัติวัคซีนโควิด-19ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด/แอสตราเซเนกาในการใช้งาน

ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ แมท แฮนด์ค็อก (Matt Hancock) กล่าวว่า การอนุมัติวัคซีนแอสตราเซเนกาของรัฐบาลลอนดอนนำไปสู่การนำอังกฤษออกจากวิกฤตโรคระบาดให้ทันภายในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึง ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำนวนหลายล้านคนที่อยู่ในความเสี่ยงจะได้รับการปกป้องและมีคำแนะนำให้การแจกวัคซีนโดสแรกและโดสที่ 2ห่างกัน 12 สัปดาห์นั้นจะช่วยได้มาก เพราะมันจะทำให้มีคนเพิ่มมากขึ้นได้รับภูมิคุ้มกันจากเข็มแรกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันระดับสูงในตัวของมันเอง

ด้านเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลอังกฤษมีกำหนดที่จะเริ่มแจกวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับสาธารณะในวันที่ 4 ม.ค 2021 โดยแฮนด์ค็อกกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในการสิ้นสุดปี 2020 ด้วยช่วงเวลาแห่งความหวังเช่นนี้”

กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษกล่าวผ่านแถลงการณ์ถึงการอนุมัติวัคซีนโควิด-19ตัวที่ 2 ว่า หลังจากผ่านการทดสอบด้านคลินิกวิทยาอย่างเคร่งขัดและการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญประจำ MHRA ซึ่งสรุปว่า วัคซีนผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดด้านความปลอดภัย คุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในวันอาทิตย์(27 ธ.ค.)ประธานบริษัทแอสตราเซเนกา ปาสคาล โซเรียต(Pascal Soriot)ระบุว่า วัคซีนของเขาสามารถให้ภูมิคุ้มกัน 100% ต่อโรคโควิด-19 ร้ายแรงที่ต้องการรักษาพยาบาล และเขาได้คาดการณ์ว่า การทดสอบจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทของเขาประสบความสำเร็จในการได้ประสิทธิภาพวัคซีนเทียบเท่าของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคที่ 95% และของไบโอนาที่ 94.5%

อย่างไรก็ตามในผลการทดสอบก่อนหน้าที่ทางแอสตราเซเนกาเปิดเผยต่อสาธารณะแสดงผลประสิทธิภาพวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยผลประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70% แต่ทว่าประสิทธิภาพสามารถเพิ่มไปที่ 90% ขึ้นอยู่กับขนาดโดสที่ใช้ ซึ่งทางบริษัทแอสตาเซเนกาได้ทำการทดสอบกับมนุษย์ซึ่งเป็นอาสาสมัครจำนวนมากใน “อังกฤษ” และ “บราซิล” พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 62% สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับ 2 โดส ขณะที่อาสาสมัครผู้ได้รับครึ่งโดสในครั้งแรกและอีก 1 โดสเต็มอีก 1 เดือนหลังจากนั้นพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มมาถึง 90%

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน แสดงความยินดีเป็นอย่างมากต่อการที่วัคซีนแอสตราเซเนกาได้รับการอนุมัติให้ใช้นั้นถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของวิทยาศาสตร์อังกฤษ เป็นข่าวดีอย่างแท้จริง และชัยชนะต่อวิทยาศาสตร์อังกฤษที่@วัคซีนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกาได้รับการอนุมัติให้ใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยมีแผนจัดหา
วัคซีนโควิด -19 เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติแล้วโดยขณะนี้ได้ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ผ่านการดำเนินการ 3 แนวทาง ได้แก่

1) การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศ (รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 400 ล้านบาท)
2) การทำความร่วมมือวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ (รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 600 ล้านบาท) และ
3) การจัดซื้อ จัดหาวัคซีนด้วยการนำเข้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ
โดยการทำความร่วมมือวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ ไทยได้ร่วมกับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ร่วมกับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่สำคัญ ดังนี้ คือ กระทรวงสาธารณสุข, บริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และ บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด โดยขอบข่ายของหนังสือแสดงเจตจำนงครอบครอบคลุมถึงความร่วมมือ ในด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนของหน่วยงานภายในประเทศ โดยให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด 19 แห่งหนึ่งของบริษัทแอสตราเซเนกา จำกัด และมีการตกลงที่จะยอมรับความเสี่ยงในการผลิตร่วมกัน รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานควบคุมกำกับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัคซีนได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้อนุมัติเงินลงขันในการวิจัยกับบริษัท 2,379 ล้านบาทกับแอสตราเซเนกาไว้แล้วด้วย