คนไทยทำบุญ-ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดันเงินสะพัด 1 หมื่นล้าน



  • ผลสำรวจ “สนค.” ชี้ชัดคิดเป็น 0.36% ของมูลค่าท่องเที่ยว
  • หนุนเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวท้องถิ่นคึกคักสร้างรายได้ชุมชน
  • แนะดูแลสถานที่ให้คงสภาพดีต่อยอดเพิ่มมูลค่าท่องเที่ยว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วงเดือนต.ค.63 สนค. ได้สำรวจการพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอรวมทั้งสิ้น 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะขณะนี้ คนไทยมีปัญหา หรือเครียด มักหันหน้าเข้าวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอพร และโชคลาภมากขึ้น และทำให้เกิดเงินสะพัด หรือการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก

โดยพบว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทยในปี 62  ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว 

พิมพ์ชนก วอนขอพร

นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดี และมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับผลการสำรวจพบว่า ผู้ตอบ 44.98% ตอบว่า เดินทางไปทำบุญ-ขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 43.95% ตอบลดลง และอีก 11.07% ตอบเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว  

โดยวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรกในการทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต มีผู้ตอบมากถึง 42.42% ส่วนอีก 29.64% ตอบขอโชคลาภ/เงินทอง และอีก 10.95% ตอบขอเรื่องการงาน – ธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน  

ส่วนผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 44.72% มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย100 – 200 บาท ส่วนอีก 24.57% ตอบน้อยกว่า 100 บาท ดังนั้น ประชาชนกว่า 70% ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน/นักศึกษา ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ นอกจากนั้น ยังได้สำรวจกิจกรรมความเชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยม พบว่ากิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูชะตาราศี ตามด้วยดูลายมือ และดูไพ่ยิปซี