

- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งขับเคลื่อน “ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ตามแผนท่องเที่ยวชาติ 5 ปีหน้า 2566-2570
- ปลุกทุกฝ่ายร่วมรับมืออนาคตวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ย้ำนโยบาย “ทั่วถึง ยั่งยืน และสมดุล”
- ด้าน UDDC ชี้เป้าไทยต้องจัดทัพใหม่หันใช้ “แผนจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง” พึ่งพาท่องเที่ยวสไตล์ “เดินได้ เดินดี”
- ส่วนผู้นำธุรกิจเพื่อสังคม Local Alike แนะปลดล็อก 3 เรื่อง “นโยบายรัฐ-กรอบแนวคิดชุมชน-บ่มเพาะตัวกลาง”
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการหัวข้อ “นโยบายที่ดีกว่าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน A Better Policy for Sustainable Tourism” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เวทีระดมความเห็น ข้อเสนอแนะ และความร่วมมือ ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ขณะนี้กำลังเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวท่ามกลางความท้าทายที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ต่อเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดังนั้นนโยบายหลักของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นับจากนี้เป็นต้นไป จะมุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยว อย่าง “ทั่วถึง ยั่งยืน และสมดุล” บนพื้นฐานของแนวคิด “ไม่ทิ้งใคร ไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยวิสัยทัศน์ “การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นคุณค่า มีความสามารถในการปรับตัว เติบโตอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม” เป็นการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเท่าเทียม รวมถึงการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และพัฒนาปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ พลิกโฉมประเทศไทย สู่การเป็น Hi-Value and Sustainable Thailand นั่นเอง

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงได้รณรงค์ทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันสร้างประโยชน์ให้สังคมมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวมีส่วนร่วมลดผลกระทบปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการจัดกิจกรรม พร้อมกับทำให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกิน (Over tourism) ด้วยการหันมาช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน สนับสนุนชุมชนมีส่วนร่วมและกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับมติที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 ที่ไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ 19 สิงหาคม 2565
สำหรับเวทีเสวนาครั้งนี้ มีตัวแทนเข้าร่วมนำเสนอมุมคิดจาก 4 องค์กร ประกอบด้วย นางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) “TCEB” นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต จ.บึงกาฬ และกรรมการผู้จัดการบริษัท ขาบสไตล์ จำกัดผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC – Urban Design and Development Center) และนายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC – Urban Design and Development Center) กล่าวถึงประเด็นสำคัญเรื่อง “การเดินสร้างเศรษฐกิจเมือง” หากจะพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกันกับ 3 ส่วน คือ “เมือง-ท่องเที่ยว-ยั่งบืน” จะต้องริเริ่มด้วยการวางแผนและจัดการสภาพแวดล้อมเมืองเน้นเรื่องสภาพพื้นฐานที่อาจจะทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด
โดยจะต้องวางแผนและจัดการด้วยการออกแบบสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความอยากอยู่ อยากเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมและร่วมสร้างความยั่งยืน แต่ละพื้นที่ควรทำให้เป็นมากกว่าเมืองน่าอยู่ทั่วไป ด้วยการออกแบบวางผังให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมกลับมาเที่ยวอีก และอยู่พักค้างคืนนานวันเพื่อใช้เงินกระจายสู่พื้นที่มากขึ้น
ส่วน “การจัดการสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่” วิธีให้คนเดินท่องเที่ยวให้มากที่สุด “การเดิน เดินดี” จุดขาย คือ คนเดินคึกคัก รายได้เพิ่มขึ้น จึงตอบโจทย์อย่างแน่นอนในการลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ เพราะยิ่งเคลื่อนช้ายิ่งทำให้เกิดความยั่งยืน ขณะนี้ทางจุฬาลงกรณ์ได้ทำ “ตัวชี้วัด” โปรโมตนโยบายลำดับการพัฒนาแต่ละบริเวณอย่างชัดเจน เช่น CBD ย่านบางรัก-สีลม-สาทร คนเดินมากสุด เปรียบเทียบกับ CBD ใหม่ย่านพระราม 9 ไม่มีคนอยากเดิน

ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า ตอนนี้การท่องเที่ยวของไทยอาจจะยัง “ติดกับดักรายได้ท่องเที่ยวปานกลาง” เนื่องจากการวางแผนจัดารออกแบบด้านสิ่งแวดล้อม” ตามพื้นที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อาจจะยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมความต้องการที่จะกระตุ้นรายได้กลุ่มตลาดเป้าหมาย เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่เดินถึง แต่ไม่ได้เดินดี เพราะเดินสะดวกปลอดภัยเพียงแค่ 54 %
โดยภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศจึงยังไม่สามารถไปถึงความฝันที่จะผลักดันรายได้จีดีพีจาการท่องเที่ยวให้ได้ถึงปีละ 30% บวกกับตอนนี้ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพซึ่งส่วนใหญ่ทั่วโลกคือกลุ่มสังคมของผู้สูงอายุ แต่การพัฒนายังไม่ได้สามารถตอบโจทย์ตลาดได้ตรงตามความต้องการ รวมถึงปัจจัยที่จะทำให้คนเดินได้เดินดี บางพื้นที่แม้จะเข้าถึงได้ง่ายแต่สภาพอากาศร้อน ก็เป็นอีกปัจจัยไม่เอื้ออำนวย
ทางแก้คือการเพิ่ม “โอกาสสร้างเมืองน่าอยู่” เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวให้อยากเข้าไปใช้บริการ เป้าหมายน่าจะต้องดึงดูดให้คนใช้เวลาเดินสักทริปละ 3 วัน แต่การพัฒนาเมืองขององค์กรท้องถิ่นของไทยทุกวันนี้ยังต้องการรัฐบาลเข้าไปช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเมือง
ประการสำคัญจะต้องร่วมมือกันสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง เมืองน่าอยู่-การท่องเที่ยว-ความยั่งยืน ด้วยการการวางแผนและจัดการสภาพแวดล้อมเมือง เนื่องจากสภาพของการท่องเที่ยวในฉากทัศน์โลกยุคใหม่กำลังที่เต็มไปด้วยแนวโน้มใหม่และความไม่แน่นอนจากหลากหลายปัจจัย หากจะหวังพึ่งพาตลาดหลักเดิม ๆ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือตะวันออกกลาง อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ SE :Social Enterprise กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ต้องการจะนำเสนอการปลดล็อกความท้าทาย “การท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน” ของประเทศไทย ใน 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ต้องการให้รัฐเดินหน้านโยบายต่อเนื่องขับเคลื่อนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ชุมชนสามารถทำแผนแม่บทระยะยาวได้ เพราะปัจจุบันถนนทุกสายวิ่งเข้าชุมชน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนา เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง รัฐต้องมีนโยบายในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง
ส่วนที่ 2 จะต้องใส่กรอบแนวคิดหรือ mindset ทางการตลาดให้ชุมชนสร้างโมเดลเกื้อกูลกัน ด้วยการทำตลาดที่ตัวเองอยู่ได้ สร้างความโปร่งใส เพราะปัญหาของชุมชนเมื่อพัฒนาการท่องเที่ยวจนเติบโตแล้วอาจจะมีรายได้ปีละ 1-10 ล้านบาท จากก็จะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กันเองในชุมชนกลายเป็นอุปสรรคพัฒนาต่อไปได้ยาก
ส่วนที่ 3 ต้องบ่มเพาะตัวกลางในการคัดสินค้า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวออกแบบเทรนด์มาเรียบร้อแล้ว ถึงความต้องการเลือกจุดหมายปลายทางพักผ่อนแบบใด แต่ตัวกลางต้องได้รับการผลักดัน ส่งเสริม บ่มเพาะ ให้ชุมชนรู้วิธีการเติบโตไปด้วยกันโดยไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza, www.facebook.com/penroongyaisamsaen