

- พร้อมพันธมิตร ระดมทุกฝ่ายหนุนพีอาร์สร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลก
- โชว์จุดแข็งสู้อีกสักตั้งด้วย 5 แผนใหม่
- ฝูงบิน/เส้นทาง+ช่องทางขายเอเย่นต์/ออนไลน์+ชิงเค้กธุรกิจคาร์โก้+เพิ่มรายได้+ตลาดดิจิทัล/บริการใหม่
นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป็นประธานจัดการประชุม “THAI Networking : Discover Brand New Sky” โดยได้เชิญตัวแทนขายตั๋วโดยสารในตลาดญี่ปุ่นเกาหลี ออสเตรเลีย ผู้บริหารไทยสมายล์ และพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาพบปะกัน โดยการบินไทยได้นำเสนอความคืบหน้ากลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย เช่น การขาย การตลาด การหารายได้ ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับตัวแทนทั้ง 3 ประเทศ ตลาดสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจและประชาสัมพันธ์ความพร้อมของการบินไทย รวมถึงประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ใหม่ ๆ 5 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 Feasible Products and Improved Services การปรับแบบเครื่องบินและเส้นทางบินที่เหมาะสมในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศ เพื่อสร้างรายได้และทำกำไรอย่างยั่งยืน และแผนพัฒนาเส้นทางบินผ่านความร่วมมือกับไทยสมายล์และสายการบินพันธมิตรกลุ่ม Star Alliance เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ขณะนี้การบินไทยมียอดจองที่นั่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สถิติเดือนเมษายน 2565 เส้นทางบินยุโรปมียอดจองที่นั่งถึง 80-90 %

เรื่องที่ 2 Revenue & inventory management การพัฒนาช่องทางการขาย ผ่านตัวแทนขาย และออนไลน์ (Online Travel Agent) เพื่อความสะดวกสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยกำหนดราคาอย่างคุ้มค่าและแข่งขันได้รวมทั้งสร้างโอกาสทางการขายใหม่ ๆ โดยกำหนดเงื่อนไขบัตรโดยสารต่าง ๆ ให้เรียบง่ายและมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น
เรื่องที่ 3 Cargo Revenue Lead การเพิ่มส่วนแบ่งในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศและพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร ผลักดันคาร์โก้การบินไทยเติบโตต่อเนื่อง สถิติเดือนมีนาคม 2565 สามารถสร้างรายได้สูงกว่าช่วงเวลาดียวกันในปีที่ผ่านมา

เรื่องที่ 4 Cost Efficiency Distribution Channels การเพิ่มประสิทธิภาพการขายและการหารายได้ มุ่งเน้นเส้นทางบินที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างผลกำไรสูงสุด และวางกลยุทธ์การขาย นอกเหนือจากเส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ แล้ว ยังเน้นการขายกลุ่มผู้โดยสารเดินทางข้ามภูมิภาคโดยใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางบริการต่อเครื่องในเที่ยวบินต่าง ๆ เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค
เช่น จากออสเตรเลีย เอเชียตอนเหนือและตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บินโดยไทยสมายล์ สู่ทวีปยุโรปและเอเชียตะวันตก รองรับกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และกลุ่มลูกค้าตลาดแรงงาน ช่วงตารางการบินฤดูร้อน 2565 การบินไทยเปิดบินครอบคลุมถึง 34 เส้นทาง
เรื่องที่ 5 Customer & Marketing ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
ส่วนที่ 1 สร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการตลาด พร้อมปรับปรุงบริการ ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกจุดสัมผัสบนCustomer Journey
ส่วนที่ 2 เน้นการตลาดดิจิทัล ตอบสนองพฤติกรรมลูกค้า ใshเข้าถึงบริการการบินไทยผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันอย่างสะดวกขึ้น โดยพัฒนา Content ให้น่าสนใจ รวมถึงนำฐานข้อมูลลูกค้าแต่ละกลุ่มมาวิเคราะห์เพื่อเสนอบริการในลักษณะ Personalize มากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการการใช้งาน Social Media แต่ละ Platform ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนที่ 3 แนะนำบริการใหม่ เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์สมาชิกบัตร Royal Orchid Plus โปรแกรมท่องเที่ยว Royal Orchid Holidays การจองอาหารล่วงหน้า ระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน ร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงที่พัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รังสรรค์กาแฟ “Black Silk Blend” กาแฟสูตรพิเศษที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว ให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจ มีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างงานเสริมอาชีพ ในท้องถิ่นควบคู่กันไป
ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ที่โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ โดยมี Mastercard เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ร่วมกับผู้สนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ โรงแรมเพนนินซูลากรุงเทพฯ Jim Thompson สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และ ERB
ในที่ประชุมมี นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย เป็นประธาน พร้อมผู้บริหารการบินไทย ไทยสมายล์ และผู้แทนจากองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศเข้าร่วมรับฟังแผนงานดังกล่าว ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza ,www.facebook.com/penroongyaisamsaen