การบินไทยแจงแผนฟื้นฟูกิจการคืบ-หลังเร่ขายสินทรัพย์-จ่อกู้เสริมสภาพคล่องอุดรูรั่ว

“การบินไทย” แจงคืบหน้าฟื้นฟูกิจการ เขย่าโครงสร้าง – จัดสภาพคล่องทางการเงินผ่านฉลุย เร่งขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่ม 16 รายการ หวังเสริมกระแสเงินสดในมือสิ้นปีนี้เหลือ 1.6 พันล้านบาท ขณะที่แผนจัดหาสินเชื่อใหม่ คาด ธ.ค.นี้ ยื่นสัญญาขอกู้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ว่า วันนี้ (1 พ.ย.)เวลา 13.30 น. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และนายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานคณะกรรมการเจ้าหนี้ร่วมแถลง พร้อมด้วยผู้บริหารฟื้นฟูกิจการ คณะกรรมการเจ้าหนี้ และรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบหน้า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนดังกล่าวตั้งแต่ 15 มิ.ย.64 ว่าการบินไทยได้มีการดำเนินการไปอย่างไรบ้าง

สำหรับความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยพบว่า ขณะนี้การบินไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูมากว่า 4 เดือน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของการชำระหนี้ สำหรับงวดรายการระหว่างวันที่ 15 มิ.ย. – 14 ก.ย.64 โดยได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน รวมการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมเป็นเงินกว่า 1,200 ล้านบาท 

ส่วนเรื่องของการปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุนนั้น ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการลดทุนจดทะเบียนจากจำนวนราว 2.69 หมื่นล้านบาท เป็นจำนวน 2.18 หมื่นล้านบาท โดยการตัดหุ้นของบริษัทฯ ที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่ายจำนวนประมาณ 516 ล้านหุ้น และได้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการลดทุน ต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564

นอกจากนี้ การบินไทยยังดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจทั้งในเรื่องของการปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ปรับและบูรณาการกระบวนการทำงาน ปรับลดค่าเช่าและเช่าซื้ออากาศยาน ปรับลดแบบเครื่องบินจาก 8 เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 เหลือ 4 ประเภท และปรับปรุงระเบียบข้อบังคับการทำงาน ซึ่งการปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กรในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีจำนวนพนักงานจาก 29,500 คน เหลือ 21,300 คน และจะปรับลดต่อเนื่องในปี 2565 ให้เหลือ 14,500 – 14,750 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้ดำเนินการจัดสภาพคล่องทางการเงิน โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ พักชำระหนี้และดอกเบี้ย ปรับลดหนี้ในส่วนภาระดอกเบี้ย เจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา เพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ อาทิ การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด ส่วนแผนแปลงหนี้เป็นทุน ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายหลังได้รับสินเชื่อใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในปี 2564 การบินไทยดำเนินการปรับลดฝูงบินที่ไม่สอดคล้องกับแผนดำเนินงาน ปลดระวางอากาศยานเพิ่มเติมจำนวน 45 ลำ จากในปี 2563 ที่มีจำนวน 103 ลำ คงเหลือฝูงบินดำเนินงานจำนวน 58 ลำ สำหรับอากาศยานที่จอดรอขายในปีนี้ แบ่งออกเป็น แอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ แอร์บัส A230-800 จำนวน  2 ลำ โบอิ้ง 747-400 จำนวน 10  ลำ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และโบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ รวมทั้งยังมีอากาศยานจอดรอคืน แบ่งเป็น แอร์บัส A330-300 จำนวน 12 ลำ และแอร์บัส A380-300 จำนวน 6 ลำ

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเสริมคล่องทางการเงิน การบินไทยมีแผนประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 19 รายการ ในช่วงที่ผ่านมาจำหน่ายแล้วเสร็จ 3 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการขาย 16 รายการ โดยแบ่งเป็น อสังหาริมทรัพย์ในประเทศรวม 10 แห่ง ขายแล้วเสร็จจำนวน 3 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการขายอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย ที่ดินและอาคารสำนักงานสีลม, ที่ดินและอาคารรักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง, ที่ดินและอาคารจังหวัดเชียงใหม่, ที่ดินและอาคารจังหวัดเชียงราย, ที่ดินและอาคารจังหวัดพิษณุโลก, ที่ดินและอาคารจังหวัดอุดรธานี และที่ดินและอาคารจังหวัดขอนแก่น 

นอกจากนี้การบินไทยยังมีแผนประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ รวมจำนวน 9 รายการ ประกอบด้วย อังกฤษ 2 รายการ, อิตาลี 1 รายการ, ฟิลิปปินส์ 1 รายการ, ฮ่องกง 2 รายการ, สิงคโปร์ 2 รายการ และอินโดนีเซีย 1 รายการ  

สำหรับแผนปรับโครงสร้างและการจัดการสภาพคล่องดังกล่าว การบินไทยประมาณการณ์ว่าภายในเดือน ธ.ค.2564 จะมีกระแสเงินสดในมืออยู่ที่ 1,651 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประมาณการรวมขายที่ดินและอาคารและการขายหุ้น BAFS แต่ไม่รวมขายเครื่องบิน ส่วนกรณีที่การบินไทยต้องดำเนินการจัดหาสินเชื่อใหม่ ปัจจุบันได้จัดทำรูปแบบ เงื่อนไข และข้อกำหนดของสินเชื่อใหม่ให้ผู้บริหารแผนพิจารณา โดยคาดการณ์ว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะสามารถร่างสัญญาสินเชื่อใหม่ พร้อมนำส่งสัญญาให้กับผู้ให้สินเชื่อใหม่