

- “การบินไทย”ตีปีกไตรมาส1ปี’66ลั่นทำกำไรพุ่ง12,523ล้านบาทต่อเนื่อง3ไตรมาสจัดทัพธุรกิจชิงเค้กเพิ่มไตรมาส2-3นำเข้าฝูงบินใหม่4ลำ
- ควบรวมเครื่องไทยสมายล์20ลำหวังชิงยอดขาย“ยุโรป–เอเชียเหนือ” 1ก.ค.66เพิ่มเที่ยวบินเพียบเข้าจีนญี่ปุ่นฮ่องกงพร้อมตุนเงินสดเป๋าตุง4.2หมื่นล้าน
- เตรียมใช้หนี้ก้อนโตปีหน้า8,000ล้านบาทและยังฟุ้งเดินหน้าลงทุนศูนย์ซ่อมหมื่นล้านMROอู่ตะเภา
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี 2566 ดีเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการบินไทยและบริษัทย่อยมีได้รวมทั้งสิ้น 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 11,181 ล้านบาท เติบโต 271.2 % มีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 486 % (กำไรต่อเนื่องกัน3 ไตรมาส) และมีกำไรหลังหักเงินสดจ่ายหนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBIDA) รวมทั้งสิ้น 14,054 ล้านบาท พร้อมกับมีกระแสเงินสดหมุนเวียน 42,915 ล้านบาท ให้บริการขนส่งผู้โดยสารได้ 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน245.1% ทำให้มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 83.5 % ซึ่งตลอดปีนี้จะรักษาไว้ให้ได้ 77-80 %
ผลจากการบินไทยมีรายได้และกำไรดีขึ้นต่อเนื่อง จึงประมาณการณ์ตลอดปี 2566 จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลกได้ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคน ปี 2567 ตั้งไว้ 12 ล้านคน รวมทั้งยังคงเป้าหมายการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการให้ได้ช่วงปลายปี 2567 ควบคู่กับการต้องบริหารกระแสเงินสดในมือที่มีอยู่ขณะนี้กว่า 42,915 ล้านบาท เนื่องจากตอนนี้มีหนี้รวมทั้งหมดกว่า 140,000 ล้านบาท ปีหน้าจะต้องจ่ายตามสัญญาอย่างน้อย 8,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการหักลบค่าโดยสารของคู่ค้าและผู้โดยสารซื้อไว้ก่อนเกิดปัญหาฟื้นฟูกิจการ (เป็นหนี้คู่ค้าต่างประเทศ 70-80%) มีประมาณ 13,000 ล้านบาท ตอนนี้ทยอยใช้คืนไปแล้วเหลือค้างชำระอีกเพียง 5,000-6,000 ล้านบาท

นายชายย้ำว่า การบินไทยยังคงเป้าหมายที่จะนำธุรกิจออกจากแผนฟื้นฟูกิจการให้ได้ช่วงปลายปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้กับคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งการเดินหน้าสร้างรายได้ ลดหนี้สิน จัดการขายสินทรัพย์ที่ไม่ควรเก็บไว้ให้เป็นภาระอีกต่อไป จึงกำลังประกาศขาย สำนักงานการบินในประเทศที่เชียงใหม่ พิษณุโลก กับต่างประเทศ ที่อังกฤษ ฮ่องกง ปีนัง มูลค่าการขายรวมทั้งหมดแล้วจะได้เป็นเงินเข้ามาหลัก 100 ล้านบาท
ทางด้านการ “บริหารฝูงบิน” ขณะนี้มีเครื่องบินบริการรวม 65 ลำ แบ่งเป็น การบินไทย 45 ลำ และไทยสมายล์อีก 20 ลำ ตามแผนหลังจากจะเดินหน้าเพิ่มฝูงบินด้วย 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 ทยอยนำเครื่องบินใหม่อีก 4 ลำ เริ่มไตรมาส3 ปีนี้เป็นต้นไปจะนำเข้ามาก่อน 2 ลำแรก ผนวกกับแนวทางที่ 2 ควบรวมเครื่องบินลำตัวแคบ แอร์บัส A320 ของไทยสมายล์มาเป็นของการบินไทยอีก 20 ลำ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายซึ่งบางส่วนจะต้องจอดอยู่บนพื้นในระหว่างขั้นตอนรอควบรวมจนสำเร็จครบทั้งหมด
นายชายกล่าวว่าการจัดการฝูงบินใหม่ก็เพื่อประโยชน์หลัก 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือจำนวนที่นั่ง (productivity) ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลกฟื้นตัวหันมาเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งปัจจุบันการบินไทยสามารถบริหารจัดการใช้ศักยภาพเครื่องบินเฉลี่ยสูงถึงวันละ 12.3 ชั่วโมง ส่วนที่ 2 สามารถทยอยนำเครื่องไทยสมายล์แต่ละล็อตที่โอนให้การบินไทยครั้งละ 4-5 ลำ นำมาผลิตที่นั่งขายให้ผู้โดยสารเส้นทางบินระยะใกล้เพิ่มขึ้นได้ แล้วยังสามารถลดการใช้งานเครื่องบินปัจจุบันซึ่งทำงานหนักลงได้ด้วย
ส่วนธุรกิจให้บริการภาคพื้นดินและขนสัมภาระกระเป๋าผู้โดยสาร (Ground handing service) ตามสัญญาจ้างระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บมจ.การบินไทย ในสนามบินนานาชาติหลักสุวรรณภูมิ ถึงแม้กระทรวงคมนาคมจะมีนโยบายให้ดำเนินการจ้างบริษัทรายที่ 3 เข้ามาบริการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยมีแรงงานไม่เพียงพอทำให้ผู้โดยสารร้องเรียนเรื่องได้รับกระเป๋าล่าช้าเกินมาตรฐานสากล นั้น
นายชายกล่าวว่า การบินไทยได้แก้ไขปัญหาได้แล้วโดยใช้วิธีเพิ่มค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น จูงใจให้คนเข้ามาทำงานอย่างเพียงพอ หลังจากช่วงโควิด-19 แรงงานเหล่านี้หันไปประกอบอาชีพอื่นแล้วไม่กลับเข้าสู่ระบบ ผนวกกับเมื่อมีบริษัทรายที่ 3 เข้ามาบริการก็จะเกิดการแย่งชิงแรงงานส่งผลต่อเนื่องไปถึง “ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน” ของสายการบินต่างๆ จะแพงขึ้นเหมือนที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน เพราะพอสายการบินต่าง ๆ มีต้นทุนจากส่วนนี้เพิ่มขึ้น ก็ใช้วิธีบวกค่าใช้จ่ายรวมไว้ในตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 เริ่มเข้านอกฤดูเดินทาง (low season) จึงยังต้องเร่งรักษาฐานรายได้จากการขายตั๋วโดยสารและบริการตลาดที่มีความแข็งแรงไว้ 2 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดที่ 1 ยุโรป เป็นแหล่งรายได้สำคัญของการบินไทยสัดส่วนประมาณ 40 % ของรายได้ทั้งหมด จึงวางกลยุทธ์บินบริการแบบประจำทุกวันทุกเส้นทาง (daily flight) ตอนนี้มีสัญญาณจองซื้อตั๋วล่วงหน้าทยอยเข้ามาแล้ว

ตลาดที่ 2 เอเชียเหนือ ได้แก่ “สาธารณรัฐประชารัฐประชาชนจีน” ซึ่งการบินไทยต้องแข่งขันกับสายการบินจีนซึ่งมีอยู่จำนวนมากมายสามารถบินตรงได้จากทุกเมืองของจีนมายังไทย ขณะนี้การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสารไม่มากนักราว 10 % ของทั้งหมด จึงวางแผนจะเพิ่มเที่ยวบินตรงแบบประจำ เริ่ม 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป บริการบินไป–กลับ ไทย–สาธารณรัฐประชาชน ทุกวัน หรือ วันละ 1 เที่ยว สู่ 3 เมืองใหญ่ คือ ปักกิ่ง 7 เที่ยว/สัปดาห์ จากเดิม 3 เที่ยว/สัปดาห์ เซี่ยงไฮ้ 7 เที่ยว/สัปดาห์ จากเดิม 4 เที่ยว/สัปดาห์ กวางโจว 7 เที่ยว/สัปดาห์ จากเดิม 3 เที่ยว/สัปดาห์เช่นเดียวกับ “ญี่ปุ่น” วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะเพิ่มเที่ยวบิน สู่เมืองโตเกียว 21 เที่ยว/สัปดาห์ หรือ วันละ 3 เที่ยว ส่วนการขึ้นลงสนามบินฮาเนดะ ยังคงไว้ที่ 14 เที่ยว/สัปดาห์ เมืองโอซาก้า 14 เที่ยว/สัปดาห์ เมืองนาโงย่า 7 เที่ยว/สัปดาห์และ “ฮ่องกง” ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ จะเพิ่มเป็น 21 เที่ยว/สัปดาห์ จากเดิม 14 เที่ยว/สัปดาห์
ด้านนายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร บมจ.การบินไทย กล่าวเสริมว่าการบินไทยยังคงพร้อมที่จะลงทุนเพียงรายในโครงการ “ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน” TG MRO ที่สนามบินนนาชาติอู่ตะเภา ซึ่งประเมินมูลค่ากันไว้ประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง แล้วล่าสุดได้หารือกับทางเลขาธิการประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงการเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป ซึ่งจะมีความชัดเจนช่วงปลายปี 2566 แล้วการบินไทยยังคงเปิดโอกาสให้บริษัทที่สนใจจะเข้าร่วมทุนเข้ามาเจรจาหากเหมาะสมก็จะพิจารณาร่วมทุนกันได้ต่อไป
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน#gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen