

วันที่ 30 ก.ย.2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์โควิดและการเข้าถึงวัคซีนจะเริ่มมีสัญญาณบวก แต่สถานการณ์น้ำท่วมและราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น ฉุดรั้งกำลังซื้อ และอาจสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลานี้ที่เทศกาลกินเจกำลังจะมาถึงในวันที่ 6-14 ต.ค.2564
ทั้งนี้คาดว่าเทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน ซึ่งนอกจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว ยังเป็นผลจากจำนวนคนที่กินเจลดลง อีกทั้งยังปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่บางส่วนยังคง Work From Home จึงไม่เอื้อต่อการจับจ่ายในช่องทางการกินเจที่คุ้นเคยอย่างร้านอาหารข้างทางบริเวณที่ทำงาน ขณะที่ช่องทางร้านสะดวกซื้อและเดลิเวอรี่/ออนไลน์มีแนวโน้มที่คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของความหลากหลายของสินค้า และบริการจัดส่งที่สะดวกขึ้น
แม้ว่าผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สะดวกในการบริโภค เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การ Work From Home และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคยในปีก่อนๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางบริเวณสถานที่ทำงาน ทั้งแบบตักขายและนั่งทานในร้านอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัยและไม่สะดวกในการออกไปจับจ่าย
ขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่หรือออนไลน์คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากกลุ่มร้านอาหาร Food Chain ที่หันมาเพิ่มเมนูอาหารเจ/วีแกนมากขึ้น เพื่อรุกตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปีนี้คนกรุงเทพฯ จะสนใจอยากลองทานอาหารเจกลุ่มโปรตีนทางเลือกมากขึ้น แต่ก็ยังคงกังวลในเรื่องของปัจจัยทางด้านราคา รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการ (ปริมาณสารอาหาร และแคลอรี่) ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมาทาน โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบาง และด้วยราคาของโปรตีนทางเลือกที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับอาหารเจมื้อปกติ จึงมีผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในจุดนี้ได้ ก็น่าจะช่วยหนุนให้ตลาดอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นด้านราคา ซึ่งนอกจากจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าแล้ว ยังอาศัยช่วงเทศกาลกินเจทำการตลาดให้สินค้าเป็นที่รู้จักและหันมาทดลองทานมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังจากหมดเทศกาลก็ยังสามารถหารับประทานได้ง่าย เป็นต้น
ส่วนในระยะข้างหน้า พฤติกรรมของคนไทยในภาพรวมที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น จึงมีกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มหันมาบริโภคอาหารวีแกน และไม่ได้จำกัดเฉพาะเทศกาลกินเจเท่านั้น ทำให้คาดว่า โอกาสของตลาดอาหารวีแกนในไทยจะยังสามารถขยายตัวได้อีกในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภควีแกนไทย (รวมถึงมังสวิรัติและเจ) ราว 9 ล้านคน และน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเทรนด์บริโภคอาหารวีแกนโลก