กลุ่มทุน“ฮ่องกง” รุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทย

  • อานิสงส์ความวุ่นวายใน “ฮ่องกง”
  • จีน-ฮ่องกง ซื้อบ้านหลังที่ 2ในประเทศไทย
  • คาดปี2562-2563 ลูกค้าจีนรับโอนราว 45,000 ล้านบาท

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจพรีเมี่ยม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว JNC ว่า ในขณะที่กำลังซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวนและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่า หลังการเปิดการขายโครงการ แชปเตอร์ เจริญนคร-ริเวอร์ไซด์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สามารถปิดการขายได้ และมีสัดส่วนของผู้ซื้อจากฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า10% ของมูลค่าโครงการที่ขาย 4,728 ล้านบาท

“กำลังซื้อของต่างชาติลดลงไปมากในช่วงที่ผ่านมาผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและมาตรการสกัดการเก็งกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามกำลังซื้อบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีกำลังซื้อจากนักลงทุนฮ่องกง ที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่สองในประเทศไทย ในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศฮ่องกง” ประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ ประยงค์ยุทธ์ อิทธิรัตน์ชัย รองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านพัฒนาทรัพย์สินแนวสูงบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวภายหลังการเปิดให้เข้าชมโครงการ 28 ชิดลม คอนโดมิเนียมระดับหรูของบริษัทที่เปิดตัวเมื่อปี 2559 และก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนให้ลูกค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ระบุว่า โครงการนี้มีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อไว้เกือบ 9% จากสัดส่วนการขาย 80 %ในส่วนของเดอะทาวเวอร์ และ 40% ในส่วนของ เดอะวิลลา ในจำนวนนี้เป็นนักลงทุนจากฮ่องกง เกินครึ่ง ซึ่งซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2559 และโอนในปีนี้ ในขณะที่โครงการอื่นๆ ที่เปิดตัวในปีนี้ ก็มีชาวฮ่องกงจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุน ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นมาเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ถึงร้ยอละ 5และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวนถึง 8 %น่าจะเป็นผลมาจากความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศฮ่องกงในขณะนี้

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ตลาดอสังหาฯเมืองไทยสำหรับนักลงทุนต่างชาติยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะยังสามารถทำผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยปีละ 5-7% ราคาห้องชุดในกรุงเทพฯ เทียบกับเมืองหลวงทั่วโลก ไทยยังมีราคาต่ำกว่าหลายเท่า จึงดึงดูดความสนใจซื้อลงทุน ถึงแม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่และจีนฮ่องกง

โดยในปี 2560  ลูกค้าจีนโอนเงินเพื่อซื้อห้องชุด อยู่ที่ 23,621 ล้านบาท ปี 2561 เพิ่มเป็น 39,178ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 65.9  รองลงมาเป็นลูกค้าชาวอเมริกัน 13,739 ล้านบาท สะท้อนภาพความสำคัญของลูกค้าจีนได้เป็นอย่างดี เฉพาะในปี  2561 ชาวจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพรวมกันถึง  15,000 ยูนิต คำนวณเฉลี่ยยูนิตละ 5 ล้านบาท เท่ากับเป็นยอดซื้อ 75,000 ล้านบาท เทียบกับยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งประเทศมี 49,018ยูนิต มูลค่าโอนรวม 234,534 ล้านบาท แสดงว่ามีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของยอดโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2561

ทั้งนี้ ยอดซื้อ 15,000 ยูนิต ของลูกค้าจีนและฮ่องกง มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของตลาดลูกค้าต่างชาติรวมกัน และเป็นห้องชุดอยู่ระหว่างการก่อสร้างและส่งมอบหลังปี 2561 จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มในปี2562-2563หากลูกค้าจีนรับโอนทั้งหมดจะมีมูลค่าโอนไม่ต่ำกว่าปีละ 45,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 10-15% เทียบกับปี 2561 ที่ลูกค้าจีนมียอดโอน 39,000 ล้านบาท