“กฤษฎา” ลุยมอบนโยบายแบงก์ออมสิน สั่งการบ้าน “แก้หนี้ครัวเรือน”

“กฤษฎา” มอบนโยบายธนาคารออมสิน ให้การบ้านแก้หนี้ครัวเรือนด้าน “วิทัย” เผย 2 แนวทางเร่งด่วน “เพิ่มรายได้-ลดดอกเบี้ย”

  • เผยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงถึง 90%
  • ด้านออมสินเผยช่วงแรกลุยช่วยกลุ่มเงินกู้ฉุกเฉินช่วงโควิดที่
  • ปล่อยกู้ไป 30,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 8,000 ล้านบาท

วันนี้ (4 ต.ค.66) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังเดินทางไปมอบนโยบายที่ธนาคารออมสินว่าการเดินทางมาวันนี้ มีโจทย์หลักคือได้ให้ธนาคารออมสินเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงถึง 90% จึงตั้งเป้าหมายให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยในจุดนี้ เพื่อให้หนี้ครัวเรือนลดลงเหลือ 80%

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดระยะแรก ก็วางแผนจะให้ธนาคารออมสินนำร่องแก้ปัญหาหนี้เสีย ในกลุ่มลูกค้า-ลูกหนี้ของออมสินก่อน โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินช่วงโควิด-19 เมื่อปี 2563-2564 ซึ่งจุดนี้สามารถทำได้เลย

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า รายละเอียดแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้ ทางธนาคารออมสินจะเร่งทำออกมาเพื่อนำเสนอ โดยเบื้องต้นจะให้แก้หนี้ลูกค้าของออมสินเองก่อน เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถทำได้เลย โดยแนวทางช่วยเหลืออาจให้ผ่อนเท่าเดิม เงินที่ส่งมามีการไปตัดเงินต้นมากขึ้น ส่งผลให้หนี้หมดไวขึ้น

“สำหรับแนวทางการบริหารของธนาคารออมสินถือว่าบริหารได้ดี โดย 4 ปีที่ผ่านมา มีเงินสำรองเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ล้านบาท ขยับเพิ่มมาเป็น 50,000 ล้านบาท ขณะที่เงินนำส่งรัฐบาลก็ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ก็อยู่ในระดับต่ำที่ 2.8-2.9% โดยคิดเป็นมูลหนี้ 50,000 กว่าล้านบาท

อีกทั้งที่สำคัญธนาคารออมสิน ยังเข้าไปช่วยลดดอกเบี้ย ผ่านการตั้งนอนแบงก์ ทั้งในส่วนของการจำนำทะเบียนจักรยานยนต์ การจำนองที่ดิน มีที่มีเงิน ก็ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น และดอกเบี้ยในระบบสินเชื่อเหล่านี้อัตราลดลง

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ได้ให้ธนาคารออมสินเข้าไปช่วยเร่งดูการออม เสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน ส่วนเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ในวันนี้ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวเลย เพราะจะต้องรอการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้อง

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้หนี้ของธนาคารออมสิน หลักๆ ก็จะมี 2 วิธี คือ การเพิ่มรายได้ แต่วิธีนี้จะต้องใช้เวลา ซึ่งวิธีนี้จะพให้ลูกค้ามีความยั่งยืนมากกว่า วิธีที่ 2 คือการลดดอกเบี้ยลงมา หรือให้จ่ายเงินต้นเท่าเดิมและไปตัดเงินต้นมากขึ้น ก็จะช่วยลดภาระหนี้ของผู้กู้ลงได้ ทั้งนี้ลูกหนี้ของธนาคารออมสินที่จะทำได้เลย ช่วงแรกจะเป็นกลุ่มเงินกู้ฉุกเฉินช่วงโควิด-19 ที่ออมสินปล่อยกู้ไป 30,000 ล้านบาทโดยในจำนวนนี้เกิดเป็นหนี้เสีย 8,000 ล้านบาท