กรุงศรีฯ ลุ้นจีดีพี Q3 โต 4.3% จับตาฟันด์โฟลว์-เฟด หนุนบาทผันผวน



  • คาดกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 35.40-36.30 บาทต่อดอลลาร์
  • จับตาฟันด์โฟลว์บอนด์ระยะสั้นไหลออก กดดันบาทผันผวน
  • เดือนพ.ย.เงินบาทแข็งค่า 6%

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า(วันที่ 21-25 พฤศจิกายน 65) อยู่ที่ 35.50-36.30 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ติดตามตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาส 3/2565 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดการณ์ขยายตัวอยู่ที่ +4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ จับตากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นของไทย รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และยอดขายบ้านใหม่ ขณะที่ปลายสัปดาห์ตลาดสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ปริมาณธุรกรรมอาจบางลง ซึ่งอาจทำให้เงินบาทผันผวนได้

“จะเห็นว่าในเดือนพ.ย.นี้เงินบาทแข็งค่ากว่า 6% โดยนักลงทุนทั่วโลกลดสถานะการถือครองดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญหลังข้อมูลเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนต.ค.ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าเดือนก.ย.และต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้นักลงทุนมองว่าเฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงนับจากนี้ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เฟดยังส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อต่อไป ขณะที่ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทบางส่วนเพื่อทำกำไรระยะสั้น”

        
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 21-25 พฤศจิกายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.40-36.00 บาทต่อดอลลาร์
          
โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท จะเป็นรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งตลาดรอดูการส่งสัญญาณว่ามองภาพเศรษฐกิจอย่างไรมีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อทยอยลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่าเฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และมีความเห็นเจ้าหน้าที่เฟดว่าดอกเบี้ยอาจจะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดถึง 7% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5% เท่านั้น
          
นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยจะมีตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของประเทศเยอรมัน โดยตลาดจะรอดูว่าตัวเลขจะออกมาดีหรือไม่ ตลอดจนดูการส่งสัญญาณของประเทศจีนหลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ตลาดรอดูว่าจะมีการส่งสัญญาณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งจะเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อตลาดหุ้นและค่าเงินหยวน
          
สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นขายสุทธิราว 5,000 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าบอนด์มีแรงเทขายค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะบอนด์ตัวสั้น ทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประกอบกับเงินดอลลาร์ย่อลงมาด้วย

“คีย์ไฮไลท์สัปดาห์หน้าจะอยู่ที่คอมเมนต์เจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุมว่าจะมีทิศทางไปไหน ซึ่งมีผลกับตลาด รวมถึงต้องจับตาฟันด์โฟลว์ที่ยังคงมีแรงเทขายพอสมควรจากตลาดบอนด์ แต่ระหว่างสัปดาห์อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าได้”