กรมสรรพสามิต เตรียมปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบ เอื้อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ



  • แนะรัฐเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
  • อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ มีแนวคิดการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบ เพื่อเอื้อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ หรือ Super board เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าในการพัฒนาและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวในประเทศไทยอย่างไร

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากมาตรการภาษีแล้ว ในการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาต่อคันของรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน และอัตราการเสื่อมราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะสนับสนุนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันรัฐมีกองทุนอนุรักษ์พลังงาน สามารถนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนเพื่อให้ราคาต่อคันของรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาต่ำลงได้

ส่วนสิ่งที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งการวางระบบที่ชาร์ตไฟฟ้าที่เพียงพอ รวมถึงมาตรการบางด้านที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างเช่นในต่างประเทศที่กำหนดที่จอดรถยนต์ไฟฟ้า เป็นพิเศษ

“ในอดีตกรมสรรพสามิต เคยใช้มาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนให้เกิดสิ่งหนึ่ง และให้อีกสิ่งหนึ่งค่อยๆหายไป เช่น นำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์สี่จังหวะ แทนรถจักรยานยนต์สองจังหวะที่ก่อมลภาวะสูง และการรณรงค์ให้ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแทนน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยทำให้อัตราภาษีต่างกัน ซึ่งในที่สุดประชาชนผู้บริโภคก็หันมาใช้สินค้าที่รัฐต้องการสนับสนุนให้เกิดขึ้น ส่วนสินค้าที่รัฐไม่ต้องการสนับสนุนก็จะค่อยๆหายไปจากตลาด”

ขณะเดียวกัน นโยบายส่งเสริมด้านภาษีแก่รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีโคคาร์ (Eco car) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2568 ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์ต้องการความความชัดเจนในนโยบายว่า รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานอย่างไร จะสนับสนุนรถอีโคคาร์ต่อไปหรือไม่ หรือจะสนับสนุนรถยนต์ประเภทใด ซึ่งกรมสรรพสามิตจำเป็นต้องทำจัดโครงสร้างภาษีรถยนต์ให้เกิดความชัดเจน ก่อนที่จะถึงปี 2568 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาวางแผนทางธุรกิจ

สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน จัดเก็บในอัตรา 8 % แต่ถ้าเป็นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ( EV) ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) จะเก็บในอัตรา 2 % และในช่วง 1ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค.2565 จะจัดเก็บในอัตรา 0 %

“ปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ แบ่งประเภทรถยนต์เป็น 4 ประเภทคือ 1.รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน 2.รถยนต์ประเภทอเนกประสงค์แบบยกสูง(PPV)รถกระบะ 4 ประตู เช่น Double Cab ,Space Cap และPick up 3.รถอีโคคาร์ รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E85 และB10 4.รถยนต์ไฟฟ้า โดยโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จะอิงกับอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์( Co2) หากปล่อย Co2 ต่ำ เสียภาษีต่ำกว่ารถที่ปล่อย Co2 สูงกว่า”