กรมศุลฯ เคลียร์ชัด! ปิดประเด็นร้อน “นาฬิกาหรูปลอม”

กรมศุลกากร เผยความคืบหน้าปม “นาฬิกหรูปลอม” ดำเนินฟ้องแพ่งตัวแทนสิทธิ พร้อมปรับระเบียบการตรวจสอบของกลาง

  • จากเดิมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งของกลาง ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนฯ มาทำการตรวจสอบว่าเป็นของที่ละเมิดหรือไม่
  • เผยระเบียบใหม่แก้ไข โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งของกลางตรวจสอบว่า ของดังกล่าวเป็นของที่ละเมิดหรือไม่
  • โดยแจ้งให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทน ทำการตรวจสอบ และรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

วันนี้ (11 ส.ค.66) นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการประมูลนาฬิกาหนู 14 เรือน ว่า ขณะนี้กรมศุลฯ ได้ตรวจสอบเสร็จแล้ว โดยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางกรมศุลฯ ได้มีการส่งอัยการเพื่อฟ้องร้องคดีทางแพ่ง ต่อบริษัทตัวแทนสิทธิที่ได้เข้าตรวจสอบของกลาง เนื่องจากมีการปฏิบัติบกพร่องผิดพลาด จนทำให้กรมเสียชื่อเสียงในประเด็นดังกล่าว

นายพชร กล่าวด้วยว่า ในส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า ทุกคนมีการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง โดยข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการประมูล มาจากบริษัทตัวแทนสิทธิ ที่ในช่วงแรกมีการตรวจสอบนาฬิกา แล้วระบุว่าเป็นของจริง แต่ในเวลาต่อมาพอได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นของปลอม แต่กลับไม่มีการส่งหนังสือมาชี้แจงกลับมาที่กรมฯ ชัดเจน ทำให้กรมฯไม่ทราบข้อมูล และนำนาฬิกาดังกล่าว มาทำการเปิดประมูล โดยจากนี้นาฬิกาปลอมทั้งหมด 14 เรือนดังกล่าว จะดำเนินการสู่ขบวนการทำลายของกลางต่อไป

สำหรับในส่วนของตัวแทนสิทธิในประเทศไทย ที่มีการตรวจนาฬิกาหรูผิดพลาด ยังได้ทำหนังสือแสดงความเสียใจมายังกรมศุลฯ โดยย้ำว่าจะระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก เช่นเดียวกับบริษัทที่สำนักงานใหญ่ที่ประเทศฮ่องกง ก็ได้ทำหนังสือมาขอโทษถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงทางกรมศุลฯ ยังได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหารือมาตรการบังคับตามกฎหมายต่อไปอีกด้วย

“ในวันนี้ ผมตั้งใจที่จะมาแถลงเพื่อปิดปมประเด็นร้อนการประมูลนาฬิกาหรู ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกและขอย้ำว่าจะเป็นเหตุการณ์ครั้งสุดท้ายของกรมฯ ถือเป็นบทเรียนราคาแพง และจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก” นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางกรมฯ ได้คิดเพื่อหาการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคตโดยกรมฯ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบในการปฏิบัติงานของกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับการรับ-การเก็บรักษา และการจำหน่ายของกลางประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าสูง ตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 21/2566 เพื่อให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยในขั้นตอนการส่ง-รับของกลาง ให้เพิ่มเติม โดยให้มีการระบุเครื่องหมายกำกับ หรือซีเรียล นัมเบอร์ของนั้นๆ อย่างครบถ้วน

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบของกลางจะมีการกำหนดขั้นตอนไว้ชัดเจน จากเดิม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งของกลางหรือผู้จับกุมจะต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนฯ มาทำการตรวจสอบและรับรองว่าเป็นของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก่อน และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว ให้นำส่งและรับของกลางต่อไป แต่ระเบียบใหม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้นำส่งของกลางตรวจสอบว่า ของดังกล่าวเป็นของที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ โดยแจ้งให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนทำการตรวจสอบและรับรองให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จับกุม

อย่างไรก็ตามหากเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนไม่สามารถรับรองได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้นำส่งของกลางจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่มีส่วนได้เสียมาตรวจสอบและรับรองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลจากเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 45 วัน ในขั้นตอนการตรวจสอบของเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนให้ถือว่าของกลางดังกล่าวเป็นของปลอม

ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนในการขายทอดตลาด ให้เพิ่มเติม ในกรณีของกลางที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง เช่น นาฬิกา กระเป๋าเครื่องเพชร หรือทองรูปพรรณ หากจะทำการขายทอดตลาด จะต้องมีเอกสารแสดงผลการตรวจสอบจากเจ้าของสิทธิหรือตัวแทน ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่น่าเชื่อถือประกอบการพิจารณาก่อนจำหน่ายทุกครั้ง อีกทั้ง กรณีผู้ที่เข้าร่วมประมูลของกลางที่มีมูลค่าสูง ก็ได้กำหนดให้ควรมีผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่น่าเชื่อถือในการตรวจรับมอบก่อนทุกครั้ง หากไม่มีผู้เชี่ยวชาญมา ก็จะให้ทางผู้ประมูลเซ็นรับรองว่าตนเองคือผู้เชี่ยวชาญเอง

“จากนี้สำหรับผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้ากับกรมฯ ผู้ประมูลจะต้องตรวจสอบให้รอบคอบ ทางกรมฯไม่สามารถรับประกันได้ซึ่งในระเบียบจากนี้ก็จะระบุไว้ในประกาศชัดเจน ว่าผู้เข้าประมูลจะต้องตรวจสอบสินค้าที่กรมฯ นำมาขายตลาดเองหาก กรมฯ มำการอนุมัติขายแล้ว จะถือว่าผู้ชนะการประมูลมีความพอใจ และยอมรับในของกลางนั้นๆ โดยไม่มีการโต้แย้งใดๆ ในภายหลัง” นายพชร กล่าว