

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม– มีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3% เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 13.4% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 55.6% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 18.4% LPG เพิ่มขึ้น 6.6% การใช้ NGV เพิ่มขึ้น 1.9%
สำหรับการใช้กลุ่มเบนซินลดลง 5.7% และน้ำมันก๊าดลดลง 7.0% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.32 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 5.7%) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.88 ล้านลิตร/วัน 15.21 ล้านลิตร/วัน 5.70 ล้านลิตร/วัน และ 0.57 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.96 ล้านลิตร/วัน
นอกจากนี้ หากพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนมีนาคม 2565 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า การใช้ลดลง 6.2% เนื่องจากราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ในระดับสูง โดยราคาแก๊สโซฮอล์ปรับสูงขึ้น 10-13%
น.ส.นันธิกา กล่าวต่อว่า สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 76.25 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 13.4%) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 64.73 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น 61.9%) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.21 ล้านลิตร/วัน การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และการตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
สำหรับการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.19 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 55.6%) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยมาตรการ Test & Go ได้เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากระงับมาตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยต้องตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง และต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมที่พัก
นอกจากนี้ มาตรการ Test & Go เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ได้เปลี่ยนการตรวจหาเชื้อจากวิธี RT-PCR เป็น ATK และไม่ต้องจองโรงแรม ในการตรวจครั้งที่ 2 พร้อมทั้งลดวงเงินประกันเป็นไม่ต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยังคงส่งผลให้การใช้น้ำมัน Jet A1 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
ด้านการใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.48 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 6.6%) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.53 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 10.6%) ภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.08 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 9.0%) และภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.99 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 7.3%) สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.88 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 0.9%)
ส่วนการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.33 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 1.9%) นอกจากนี้ พบว่าการใช้ NGV เฉพาะเดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้น 1.0% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มาอยู่ที่ 3.42 ล้านกก./วัน
น.ส.นันธิกา กล่าวว่า สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,036,135 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น 12.4%) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 972,261 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 10.5%) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 93,798 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 95.1%) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตาน้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63,874 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,535 ล้านบาท/เดือน
ด้านการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 156,798 บาร์เรล/วัน (ลดลง 7.2%) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,637 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 66.6%) มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นสวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565