

- กรมการท่องเที่ยวนำทีมหน่วยงานรัฐเอกชนเร่งปลดล็อกปัญหาใหญ่“ขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว”
- ถกแผน 3 ระย “สั้น-กลาง-ยาว” ได้ทางออก 17 เรื่องเตรียมชงคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติและ ครม.เคาะพร้อมสั่งลงมือทำทันที
- ปรับหลักสูตรการศึกษ จ้างนักศึกษาฝึกงานพร้อมจ่ายค่าแรง ขยายผล MOU จ้างต่างด้าวเพิ่มในระบบบริการ
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 ต้องเร่งจัดหางาน พัฒนาทักษะ เพิ่มตำแหน่งงาน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนจับมือกันบูรณาการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องบุคลากรบริการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งทางกรมการท่องเที่ยวได้ขอความร่วมมือในระหว่างการประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นทั้งหน่วยงานรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องและดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมจะดำเนินการร่วมกันให้ปัญหาลุล่วงได้หรือไม่ ด้วยการเร่งสรุปแนวทางดำเนินงานที่สามารถทำได้ เพื่อจะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติมอบหมายให้ดำเนินการได้ทันทีต่อไป

ล่าสุดวันที่ 20 เมษายน 2566 กรมการท่องเที่ยวได้ข้อสรุปมติที่ประชุม กำหนดเป็นแนวทางออกการแก้ปัญหา 3 ระยะรวม 17 เรื่อง ได้แก่ “แนวทางการแก้ปัญหาระยะสั้นแบบเร่งด่วน” เบื้องต้นเปิดช่องทางเพิ่มการจัดหางานโดยให้แต่ละฝ่ายเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” มุ่งส่งเสริมการจ้างงานเข้าสู่ระบบด้วย 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1.จัดอบรมระยะสั้นเน้นพัฒนาทักษะการทำงาน 2.เพิ่มการศึกษา 3.การจ้างแรงงานต่างชาติแบบชั่วคราว 4.พิจารณาเพิ่มตำแหน่งงานหรือสัญชาติใน MOU แรงงานต่างด้าว 5.การจ้างงานระยะสั้นแก่ผู้ว่างงานหรือผู้ที่ต้องการหารายได้เสริมและผู้สูงอายุ 6.รับนักศึกษาเข้าฝึกงานและให้ค่าตอบแทนการทำงาน 7.ขยายฐานการจ้างงานให้สามารถจ้างแรงงานที่เป็นยุวชนได้
ตามมาด้วย “แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะกลาง” วางแผนจะขยายผลทำเพิ่มอีก 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ปรับปรุงหลักสูตรเน้นการฝึกภาคปฏิบัติ 2.นำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องมาปรับเป็นรายวิชาที่จำเป็นในหลักสูตรเพื่อผลิตแรงงานภาคบริการท่องเที่ยว 3.พัฒนาแพลตฟร์อม “ไทยมีงานทำ” ให้สมบูรณ์มากขึ้น 4.จัดทำ Credit Bank 5.พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติในการขอรับการตรวจลงตราประเภท Non-Immigrant B

ปิดท้ายด้วย “แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว” จะทำเพิ่มให้ครบอีก 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ปรับรูปแบบธุรกิจ 2.ปรับรูปแบบการจ้างงานบางตำแหน่งงานเป็นการจ้างงานรายชั่วโมง 3.ปรับปรุงหลักสูตรการสอนด้านท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ 4.จัดทำดัชนีชี้นำธุรกิจท่องเที่ยว สร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการและแรงงานเพื่อการจ้างงานภาคการท่องเที่ยว 5.จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ
เรื่องโดย…#เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน #gurutourza,www.facebook.com/penroongyaisamsaen
