“กรมทางหลวง”ลุยสร้างมอเตอร์เวย์ 6 เส้นทาง ช่วยฟื้นเศรษฐกิจดันเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 3 เท่า

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงมีโครงการขนาดใหญ่ที่พร้อมดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมนำเสนอขออนุมัติโครงการ (แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2562-70) รวมวงเงินลงทุน 297,313 ล้านบาท ใน6โครงการ ได้แก่ 1.สายนครปฐม-ชะอำ วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติโครงการ แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2565-68 2.สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว วงเงินลงทุน 32,187 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2563-65 และช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2564-66 3.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงินลงทุน 28,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2565-68 

4.สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย วงเงินลงทุน 42,620 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสม แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2567-70 5.สายวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 78,000 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) และช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2566-68 และ 6.สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 37,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบพีพีพี แผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี 2565-68 

นอกจากโครงการขนาเใหญ่แล้ว กรมทางหลวงยังมีงบลงทุน ปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการมากกว่า 5,000 โครงการต่อปี ซึ่งเป็นการลงทุนด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่โครงการมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปี และโครงการที่ทำต่อเนื่อง ใน งบประมาณผูกพันใหม่ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยใช้เวลาในการก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี โดยปีแรกสำนักงบประมาณจะให้งบประมาณ 20% 

สำหรับส่วนการจ้างเหมา ไม่ได้อยู่แค่บริษัทที่เข้ามาจ้างเหมา แต่ห่วงโซ่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะมีการซื้อวัสดุอุปกรณ์จากผู้ประกอบการด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ  ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบหลายรอบ แค่ช่วงแรกของการทำงานจะหมุนไปไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ หรือคิดเป็น 3 เท่า ของมูลค่าการลงทุนที่ลงทุนไปทั้งหมด