กรมชลประทาน เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน-บริหารจัดการน้ำร่วมแหล่งน้ำอื่น

กรมชลประทาน เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน การบริหารจัดการน้ำร่วมแหล่งน้ำอื่น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำป้อนภาคเกษตร อุปโภค บริโภค

  • บรรเทาปัญหาอุทกภัย
  • ช่วยลดผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
  • เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน  เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ลงพื้นที่โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่สาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับทราบถึงความคืบหน้าของโครงการ และวัตถุประสงค์ของการโครงการฯ ในการเผยแพร่ข้อมูลโครงการเกี่ยวกับสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการน้ำ ร่วมสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาโครงการได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่  สร้างแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่อำเภอแม่อาย และยังสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน

โดยมีแนวคิดในการพิจารณาจำแนกแผนงาน/โครงการ เพื่อจัดทำแผนหลักออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ โครงการจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และโครงการบรรเทาอุทกภัย และมีกรอบของการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว ที่สอดคล้องกับความต้องการและงบประมาณภาครัฐในแต่ละปี ผลการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้แผนงานโครงการทั้งสิ้นรวม 34 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เสริมความมั่นคงด้านแหล่งน้ำสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ อ่างเก็บน้ำระบบส่งน้ำแห่งใหม่และการพัฒนาระบบกระจายน้ำ จำนวนรวม 23 โครงการ เป็นแผนงานระยะสั้น 13 โครงการและแผนงานระยะกลาง 10 โครงการ ซึ่งเมื่อดำเนินโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 26.37 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่รับประโยชน์รวม 76,793 ไร่และครัวเรือนรับประโยชน์ 20,881 ครัวเรือน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

 2. โครงการแก้ไขปัญหาการบรรเทาอุทกภัย เป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจของอำเภอแม่อาย โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลำน้ำธรรมชาติและการป้องกันน้ำท่วมชุมชน จำนวน 11 โครงการ โดยเป็นแผนงานระยะสั้นทั้งหมด เมื่อดำเนินการโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะมีลำน้ำที่ได้รับการปรับปรุงประมาณ 8 กิโลเมตร มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 7,680 ไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ 3,775 ครัวเรือน

ทั้งนี้จากการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญลำดับสูงในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อนำมาศึกษาและจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้คัดเลือกโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สาว โดยโครงการมีพื้นที่บางส่วน ประมาณ 23 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ซึ่งต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2) ณ วันที่ 28 พ.ย. 62  จากการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สาว มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 28.74 ล้าน ลบ.ม. ความจุอ่างฯ ที่ระดับน้ำเก็บกัก 15.20 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 15,491 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำภาคการเกษตร ใช้อุปโภคและบริโภค ตลอดจนสัตว์เลี้ยงในฤดูแล้ง เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการดังกล่าว พื้นที่อำเภอแม่อาย มีความต้องการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 93.43 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เป็นความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากถึง 90.40 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี   จะเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำ ของลำน้ำสาขาต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมและจัดสรรทรัพยากรน้ำให้ได้ในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนได้มากยิ่งขึ้น สามารถใช้งานร่วมกับแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ