กขค.จ่อบังคับใช้ไกด์ไลน์ธุรกิจฟู้ด เดลิเวอรี่

  • กำหนดเงื่อนไขห้ามแพลตฟอร์มส่งอาหารทำกับร้านค้า
  • ใครฝ่าฝืนผิดกฎหมายแข่งขันมีโทษทั้งจำและปรับ
  • เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ก่อนออกประกาศบังคับใช้

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้ยกร่างประกาศ กขค. เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร (ไกด์ไลน์ฟู้ด เดลิเวอรี่) เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางเว็บไซต์สขค. จากนั้นจะนำความคิดเห็นมาปรับปรุง ก่อนที่จะเสนอให้ กขค. พิจารณา และออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป   

  “ขณะนี้ ธุรกิจให้บริการส่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ กำลังได้รับความนิยมในไทย โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดของโควิด-19 สขค.จึงจำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแล ไม่เช่นนั้น อาจจะมีปัญหาว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครองส่วนแบ่งตลาด อาจทำธุรกิจเอาเปรียบธุรกิจรายอื่น เช่น ร้านอาหารที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มได้ เพราะที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากร้านอาหารจำนวนมากว่า แพลตฟอร์มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม จึงได้จัดทำไกด์ไลน์นี้ โดยได้หารือกับผู้ให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ และร้านอาหารแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายไม่ขัดข้อง ถ้าแพลตฟอร์มฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำและปรับ ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 ” 

 สำหรับไกด์ไลน์ธุรกิจให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ ได้กำหนดเงื่อนไขที่ห้ามกระทำในเบื้องต้น โดยห้ามเรียกรับ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่น การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเกินสมควร หรือแตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร, การเรียกเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการโฆษณา โดยปราศจากความชัดเจนและไม่มีเหตุผลอันสมควร, การเรียกเก็บค่าส่งเสริมการขายในโอกาสพิเศษทางการตลาด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร รวมทั้งยังกำหนดให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตรา หรือวิธีการเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใดๆ นั้น แพลตฟอร์มจะต้องแจ้งให้ร้านอาหารทราบล่วงหน้า

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิร้านอาหาร โดยห้ามจำหน่ายอาหารกับแพลตฟอร์มอื่น ไม่เป็นธรรม และหากร้านอาหารไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษด้วยวิธีทางการค้าต่างๆ เช่น การคิดอัตราค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงขึ้น  เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังห้ามใช้อำนาจเหนือตลาด หรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การแทรกแซง หรือจำกัดอิสระในการกำหนดราคาของร้านอาหารอย่างไม่เป็นธรรม, การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาที่เท่ากันในทุกช่องทางการจำหน่าย โดยไม่มีทางเลือกด้านราคาอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร, การปฏิเสธการทำการค้ากับร้านอาหาร เนื่องจากร้านอาหารปฏิเสธเงื่อนไขข้อตกลงที่กำหนด, การถอดร้านอาหารหรือร้านค้าออกจากช่องทางการจำหน่ายอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น