ไม่ทิ้งกัน! คลัง ยันแบงก์รัฐพร้อมดูแลลูกหนี้ 6.57 ล้านรายหลังมาตรการพักหนี้ธปท.สิ้นสุดลง



  • ห้ามปล่อยหนี้ไหลเป็นเอ็นพีแอลเด็ดขาด!
  • ออมสินยึดพักหนี้ถึงสิ้นปี-ธ.ก.ส.ใจป้ำให้พักหนี้เพิ่ม 1 ปี
  • “ธอส.-ธพว.” ขยายเวลาพักหนี้ลูกค้าต่อถึงเดือนม.ค.64

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหมด ออกแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการในวันนี้ (22 ต.ค.) โดยในส่วนลูกหนี้ทั้งระบบ 12.12 ล้านราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 6.9 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 6.57 ล้านราย วงเงิน 2.89 ล้านบาท

ทั้งนี้ธนาคารออมสิน ได้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอีกถึงสิ้นเดือนธ.ค.63 สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 3 ล้านราย ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มีการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เพิ่มอีก 1 ปี หลังสิ้นสุดมาตรการ ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยลูกค้าถึงเดือนม.ค.64 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ขยายเวลาพักชำระเงินต้นออกไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดเดือนมี.ค.64”

นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ตามประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยง ขณะที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็ได้มีการผ่อนปรนช่วยเหลือลูกหนี้รายบุคคล ตั้งแต่เดือนต.ค.63-มิ.ย.64 ส่วนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้มีการพักชำระค่างวด 6 เดือน ซึ่งเอสเอ็มอียื่นคำร้องได้ถึงเดือน ธ.ค.63

นอกจากมาตรการพักชำระหนี้แล้ว จะมีการเข้าไปปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการให้ความช่วยเหลือผ่านเงินลงทุนเพิ่มเติม โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะต้องเข้าไปเสริมสภาพคล่องในส่วนนี้ เพื่อช่วยรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยรักษาการจ้างงานด้วย ขณะที่บสย. อยู่ระหว่างพิจารณาออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 9 (PGS9) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่ออีกช่องทางหนึ่ง

“ยืนยันว่าทุกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อาทิ ธนาคารออมสิน มีการตั้งรองประมาณ 1.2 เท่าของหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ธอส. ตั้งสำรองไว้ที่ 1.6 เท่า และ ธ.ก.ส.ตั้งสำรองหนี้ไว้  5.6 เท่า ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในการช่วยเหลือลูกหนี้แน่นอน และยังสั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดูแลไม่ให้ลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ ถึงแม้จะไม่สม่ำเสมอ ตกชั้นกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้”

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารขยายเวลาพักชำระหนี้ต่อถึง 31 ธ.ค.63 ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย รวม 3 ล้านบัญชี โดยในจำนวนนี้ 40,000 บัญชี เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี วงเงิน 70,000 ล้านบาท ที่ต้องดูแล และก่อนครบกำหนดพักชำระหนี้ในเดือนธ.ค.นี้ จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย รวมทั้งขยายการพักชำระหนี้เงินต้นให้กับลูกค้าที่มีความเปราะบาง ซึ่งมีความเสี่ยงในการชำระหนี้อยู่ประมาณ 10% ของพอร์ตธนาคาร

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า  ที่ผ่านมาธอส. ออก 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ มีลูกค้าเข้าร่วมกว่า 680,000 ราย วงเงิน 570,000 ล้านบาท โดยหลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดแล้ว ธนาคารได้ขยายมาตรการพักหนี้ออกไปอีกถึงมี.ค.64 รวมทั้งเตรียมเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า กรณีที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ โดยจะลดดอกเบี้ย เหลือ 1.99-3.99% เพื่อช่วยเหลือลูกค้า

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการ ธ.ก.ส กล่าวว่า ปัจจุบันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ธ.ก.ส. 20,000 ราย ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เกษตรกรที่พักชำระหนี้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากพบว่ามีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้ รวมทั้งยังจะมีสินเชื่อเสริมสภาพคล่องไว้ให้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนอีกด้วย

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 45,000 ราย วงเงินทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.แล้วมีลูกค้ากลับมาชำระหนี้ปกติได้เพียง 20,000 ราย ส่วนที่เหลือธนาคารช่วยเหลือด้วยการขยายเวลาพักชำระหนี้เงินต้นออกไปอีก 6 เดือน หรือถึงเดือนเม.ย.64 ส่วนลูกหนี้ที่จับตาดูเป็นพิเศษคาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 15% ซึ่งในจำนวนนี้มี 2% ที่ไม่สามารถติดต่อได้เลย