- ปักหมุดประเดิมโครงการปุ๋ยสั่งตัดลดต้นทุนการผลิต
- ชวน4สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรลดราคาปุ๋ย
- ด้าน“มนัญญา”ใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมการทำเกษตรกรรม
- เร่งสร้างคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการเกษตรผ่านโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมด่วนทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการตามนโยบายที่วางไว้ปี 2563 และนโยบายต่อเนื่องปี 2563 – 2565 เดินหน้าไปแล้ว แต่เมื่องบประมาณผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจะทำให้ปฏิบัติได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ เริ่มด้วยโครงการปุ๋ยสั่งตัดตามนโยบายลดต้นทุนการผลิตของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้หารือกับสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 4 สมาคม เพื่อขอความร่วมมือลดราคาแม่ปุ๋ย โดยสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยลดราคาปุ๋ยเคมี 200 – 800 บาท/ตัน จำนวน 252,500 ตัน มูลค่าส่วนลด 112,050,000 บาท ในช่วงเดือน มี.ค. – ธ.ค. 2563 สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยลดราคาปุ๋ยเคมี 400 บาท/ตัน จำนวน 125,000 ตัน มูลค่าส่วนลด50,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 15 มี.ค. – 15 ธ.ค. 2563 สมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย ลดราคาปุ๋ยอินทรีย์เม็ด–ผง 400 – 4,100 บาท/ตัน จำนวน 142,000 ตัน และปุ๋ยอินทรีย์น้ำ 22 บาท/ลิตร จำนวน 40,000 ลิตร (40 ตัน) มูลค่าส่วนลดรวม 241,680,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการในช่วงเดือนมี.ค. – ธ.ค. 2563 และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรกำลังพิจารณาราคาที่เหมาะสมอยู่
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายพัฒนาให้ภาคการเกษตรของไทยมีความยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นว่าการลดต้นทุนการผลิตเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ตามแผนปฏิบัติการจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรซื้อแม่ปุ๋ยที่ภาคเอกชนลดราคารวม 9 สูตร ได้แก่ 46-0-0 0-0-60 18-46-0 15-15-15 16-20-0 21-0-0 21-7-14 16-16-8 และปุ๋ยอินทรีย์ (เม็ด/ผง) / ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ไปผสมให้สอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ดินแต่ละพื้นที่ เพื่อเสริมธาตุอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงประมาณ 30% อีกทั้งยังทำให้ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น
“การควบคุมมาตรฐานปุ๋ยสั่งตัดนั้น กรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบคุณภาพให้ได้ตามสูตร รวมทั้งจะร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการผสมปุ๋ย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำหน้าที่หาช่องทางการขายปัจจัยการผลิตดังกล่าวให้ถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง” นายเฉลิมชัย กล่าว
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะนำรูปแบบเกษตรผสมผสานและทฤษฎีใหม่มาบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งจะเปิดโครงการ “นำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร” สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอาชีพการเกษตรและต้องการกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดให้สานต่ออาชีพเกษตรของครอบครัว โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เป็นศูนย์กลางเป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ โดยถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร การจัดหาปัจจัยการผลิต บริการเครื่องจักรและเครื่องมือ สนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพ และแนะนำช่องทางการจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาดเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่นคงและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว
น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจประกอบอาชีพทำการเกษตร อายุไม่เกิน 50 ปีต้องมีที่ดินเป็นของตัวเองหรือสามารถเช่าที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ หรือหากไม่มีที่ดินทำกิน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะจัดสรรที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ซึ่งมีอยู่ 17 แห่ง พื้นที่ 639 ไร่ เพื่อให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในลักษณะแปลงรวม ประสานหน่วยงานต่าง ๆ มาให้ความรู้ ทั้งด้านการปลูกพืชผัก ทำปศุสัตว์ และทำประมงตามความประสงค์ที่แจ้งไว้ในในใบสมัคร ตลอดจนช่วยวางแผนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคจัดหาตลาดรองรับผลผลิต ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ระหว่างพ.ศ. 2563 – 2565
เบื้องต้นรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 500 คน สามารถกรอกใบสมัครผ่าน QR Code ทางเว็บไซต์กรมส่งเสริมสหกรณ์ www.cpd.go.th หรือทาง Line และ Facebook : กรมส่งเสริมสหกรณ์–CPD สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.02-281-3292 หรือที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ และสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ตั้งแต่วันนี้ – 31 ม.ค.2563 และจะประกาศผลผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 2 มี.ค. 2563