.เล็งจัดตั้งคณะทำงานร่วมส่งเสริมการลงทุน
.หวังชิงส่วนแบ่งตลาดโลกที่สูงกว่า 5.5 แสนล้านบาท
.”จุรินทร์”อ้อนเร่งขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่-นกกระทาออร์แกนิก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (STEER) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 6 ร่วมกับรมว.แรงงานและรมว.การค้าและอุตสาหกรรมคนที่ 2 ของสิงคโปร์ว่า ได้หยิบยก 5 ประเด็นสำคัญขึ้นหารือ ได้แก่ 1.สินค้าเกษตร ขอให้สิงคโปร์ขึ้นทะเบียนฟาร์มไข่ไก่ และไข่นกกระทาออร์แกนิก เพื่อให้ไทยส่งออกไปสิงคโปร์ได้ และตรวจรับรองฟาร์มไก่ของไทยให้รวดเร็ว ไม่ตรวจซ้ำซ้อน ซึ่งสิงคโปร์มอบหมายให้หน่วยงานด้านอาหาร เจรจากับกรมปศุสัตว์ของไทยต่อไป
2.เศรษฐกิจดิจิทัล โดยไทยต้องการทำธุรกรรมทางธุรกิจกับสิงคโปร์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ของ 2 ฝ่าย ร่วมกันคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่ง 2 ประเทศจะร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ซื้อขายสินค้า และบริการผ่านออนไลน์ โดยจะเร่งเจรจากำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกันต่อไป
3.ลงทุน โดยได้เชิญชวนให้นักลงทุนสิงคโปร์ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอี) และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยมากขึ้น ซึ่งสิงคโปร์รับจะชวนนักธุรกิจมาไทยมากขึ้น และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งต้องการให้ 2 ประเทศมีความร่วมมือด้านนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ ได้แจ้งว่า สนับสนุนนักธุรกิจให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะด้านพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า การให้บริการทั้งคำปรึกษาและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทซิตี้ และสนใจแนวทางการลดคาร์บอน ที่ทำให้ทั้ง 2 ประเทศได้คาร์บอนเครดิตร่วมกัน, ความร่วมมือด้านการลงทุนและธุรกิจการท่องเที่ยวเรือสำราญ และทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมกันนั้น นักธุรกิจ 2 ฝ่ายยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา การค้า สินค้าเกษตร ฯลฯ ร่วมกัน 5 ฉบับ
“ประเด็นการลงทุนและการทำธุรกิจเรือสำราญ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเร่งหารือกับฝ่ายสิงคโปร์ ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการลงทุนท่าเรือ การท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ 2 ประเทศ โดยตลาดเรือสำราญท่องเที่ยวของโลกมีมูลค่าสูงถึงมีกว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 550,000 ล้านบาท แต่อาเซียนมี ส่วนแบ่งการตลาดเพียง 0.2% ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก”