‘พรรคไทยสร้างไทย’ ออกแถลงการณ์เสนอแจก ‘เครดิต’ ให้ประชาชน เปิด 5 หลักการเบื้องต้น แทนการแจก ‘เงินดิจิทัล’ ชี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระหนี้สาธารณะ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
- เปิด 5 หลักการเบื้องต้น
- แทนการแจก ‘เงินดิจิทัล’
- ชี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันที่ 28 ต.ค.2566 พรรคไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง การเสนอแจกเครดิตให้ประชาชน แทนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระหนี้สาธารณะ ให้ทุนตั้งตัวแก่ประชาชน และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปพร้อมกัน โดยระบุว่า ในขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และนักกฎหมายการคลัง แต่รัฐบาลก็ยังยืนกรานที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
โดยสรุป ส่วนใหญ่มองว่าโครงการนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่มีความชัดเจนเพียงพอซึ่งแหล่งที่มาของเงิน สภาพการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวน 560,000 ล้านบาท มาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะการบริโภค แต่ควรนำไปทำนโยบายที่ยั่งยืนและเกิดผลระยะยาวมากกว่า นักวิชาการบางท่านตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของโครงการ
นักกฎหมายการคลังบางท่านเห็นว่าขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา เพราะหากสถานะของเงินดิจิทัลนี้ไม่สิ้นสุดไปภายหลังจบโครงการ ก็จะทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นการสร้างเงินตราสกุลใหม่ขึ้นมาหรือไม่ ดังนั้น หากต้องการให้เงินดิจิทัลนี้เป็นสิทธิการใช้เงินแบบชั่วคราวซึ่งในที่สุดต้องสิ้นสภาพไป ก็ควรแถลงให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเกิดความสับสนและนำไปสู่ปัญหาอีกมากที่จะตามมา
แถลงการณ์ ระบุว่า ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเรียกร้องให้ปรับลดขนาดโครงการลง ทั้งไม่เห็นด้วยกับการแจกแบบเหวี่ยงแหโดยไม่สนใจพื้นฐานทางเศรษฐกิจของผู้รับเงิน นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และจะทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกมาก รวมไปถึงทำให้เสียโอกาสทางการลงทุน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ของรัฐบาลที่ว่าโครงการนี้จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลในเชิงบวก (MULTIPLIER EFFECTS) หลายเท่าตัว
“พรรคไทยสร้างไทย ยืนยันมาโดยตลอดว่าการช่วยเหลือและดูแลคนตัวเล็ก และ SMEs เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องรีบทำ เพราะปัจจุบันนี้มีผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ประมาณ 8 ล้านคน และมีผู้ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ในรูปแบบที่ธนาคารและสถาบันการเงินยอมรับอีกประมาณ 28 ล้านคน ขณะที่ประเทศมี หนี้สินร่วม 10.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.3% ของ GDP ต้องจ่ายดอกเบี้ยกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท ถ้าจะใช้เงินไม่ว่าด้วยการพิมพ์เพิ่ม หรือกู้เพื่อแจกแบบเหวี่ยงแห ตามโครงการแจกเงินดิจิทัล จะต้องตอบคำถามให้ชัดเจนแบบวิทยาศาสตร์ว่า คุ้มค่าจริงหรือไม่ และหากผลที่ได้รับออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดจะรับผิดชอบอย่างไร” แถลงการณ์ ระบุ
ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทย จึงเห็นว่า รัฐควรแก้ปัญหาที่กล่าวมาด้วยการออกพันธบัตรกู้ยืมเงินจากคนที่มีเงินในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3.5 – 4% ต่อปี เพื่อมาปล่อยเครดิตให้กับคนตัวเล็กประมาณ 20 ล้านคน (โดยใช้ฐานบัตรคนจนและการสมัครขอรับเครดิตเพิ่มเติม) ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี หรือไม่เกิน 1% ต่อเดือน วิธีการนี้คือ การแจกเครดิต ให้กับคนประมาณ 20 ล้านคน คนละ 10,000 บาท เพื่อนำร่อง ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ลดขนาดลงไป 360,000 ล้านบาท โดยมี หลักการเบื้องต้น คือ
1. เป็นการแจกเครดิต ไม่ใช่แจกเงินแบบให้เปล่า โดยประชาชนจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ต้อง ใช้คืนทั้งต้นและดอกเบี้ย ตามตารางเวลาที่กำหนด วิธีการนี้ไม่ต้องวุ่นวายกับร้านค้าที่จะรับเงินดิจิทัล ซึ่งต้องอยู่ในระบบ VAT ดังนั้น สินค้าและบริการระดับบ้าน ๆ เช่น ตลาดรถกระบะเปิดท้าย ตลาดนัดในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในระดับรากหญ้าจะไม่ได้ผล และในที่สุดหากขยายขอบเขต 4 กม. ออกไป เช่น เป็นระดับอำเภอ จังหวัด เงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจจะตกอยู่กับกลุ่มทุนแทน ไม่กลับมาหมุนเวียนในหมู่ประชาชนคนตัวเล็กอีก
2. คนที่รักษาเครดิตไว้ได้อย่างดี ตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป มีสิทธิขอเครดิตเพิ่มเติมจากรัฐได้ แต่ ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งรัฐจะพิจารณาประวัติ ความมุ่งหมายในการขอเครดิตเพิ่ม และความสามารถในการใช้คืน
3. รัฐไม่ต้องสร้างกลไกอะไรใหม่ สามารถใช้ระบบเป๋าตังที่มีอยู่โดยปรับปรุงบางส่วน ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี BLOCK CHAIN ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า และการออก TOKEN หรือ COIN สมัยใหม่ที่เป็น STABLE COIN ก็จะเอาไปผูกกับทองคำแทนเงินดอลลาร์ รัฐเพียงทำตัวเป็นคนกลางกู้เงินคนรวยในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาปล่อยเป็นเครดิตให้ประชาชน ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ 10 – 20 เท่า โดยใช้ธนาคารของรัฐเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการดูแลการรักษาเครดิตของประชาชน ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายประมาณไม่เกิน 3% แต่รัฐก็ยังมีส่วนต่างอย่างน้อยอีก 5% เพื่อกันไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับความเสียหายที่อาจเกิดจากการไม่รักษาเครดิตของประชาชนส่วนหนึ่ง
4. เมื่อพิจารณาจากระบบกองทุนหมู่บ้าน และหลายรูปแบบเครดิตที่เอกชนทำ หนี้เสียไม่ได้มีมากมายจนน่ากังวลแต่อย่างใด เพราะเครดิตที่ให้ไม่ได้มีจำนวนมาก ประชาชนจะเอาไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นและเพื่อการทำมาหากินแบบหมุนเวียนไม่จบสิ้น ทำให้เขาเข้าสู่ระบบเสมือนธนาคารโดยไม่ต้องมีหลักประกันอะไร ทั้งจะเกิด MULTIPLIER EFFECTS ไปตลอด ซึ่งแตกต่างจากการแจกเงินมหาศาลเพียง ครั้งเดียวที่เงินจะไหลไปสู่เจ้าสัว ทุนใหญ่ และทุนพรรคพวกเหมือนเดิม
ประชาชนที่เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนมิตร จะช่วยกันรักษาเครดิตที่ได้รับ เพราะเป็นหนทางเดียวที่เขาจะมีเงินฉุกเฉินและเงินไปทำมาหากิน หากใครเสียเครดิตและต้องการมีเครดิตใหม่ก็อาจทำได้ โดยชำระเงินต้น ดอกเบี้ย บวกเบี้ยปรับอีกไม่มากเพื่อเริ่มใหม่ ถ้าขนาดของเงินหมุนเวียนมีประมาณ 560,000 ล้านบาท ในอนาคต ลองนึกภาพว่าจะสร้างการบริโภคภายใน (LOCAL CONSUMPTION) ขนาดไหน
5. รัฐเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้เสีย (NON PERFORMING LOAN) ที่อาจเกิดขึ้น แต่รัฐมีส่วนต่างของดอกเบี้ยพันธบัตรและดอกเบี้ยที่ให้เครดิตไม่เกิน 12% ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบมากนัก ไม่เหมือนกรณีแจกเงินแบบให้เปล่า ซึ่งจะสูญเสียไปทั้งหมด โดยรัฐสามารถพิจารณาสภาวการณ์แต่ละช่วงว่าจะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 12% ต่อปีในอัตราเท่าใด เช่น อัตรา MRR ปัจจุบันที่ประมาณ 8 – 9% ต่อปี หากประชาชนที่ได้เครดิต มีความรับผิดชอบและวินัยที่ดี หนี้เสียจะอยู่ในอัตราที่ต่ำ และไม่สร้างภาระทาง การเงินการคลังให้แก่รัฐจนน่าวิตกแต่อย่างใด
ปรัชญาและเป้าหมายของวิธีการนี้ คือ การทำให้ประชาชนคนตัวเล็กเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำโดยเน้นการสร้างความรับผิดชอบและวินัยให้แก่พวกเขา เพื่อให้มีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมั่นคง ไม่ใช่มองเขาแบบคนรอรับการแจกเงิน ถ้าประชาชนราว 36 ล้านคน มีเครดิตดอกเบี้ยต่ำใกล้เคียงกับธุรกิจขนาดใหญ่ พวกเขาจะเป็นพลังการผลิต และพลังบริโภคที่มหาศาล