ไทยจีบเกาหลีใต้เปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรี ต่อยอดเพิ่มเติมจากเอฟทีเอ ที่มีร่วมกันอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ และอาร์เซป
- หวังขยายการค้า ลงทุน ความร่วมมือเศรษฐกิจ
- ไทยเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ก่อนชงรมว.พาณิชย์-ครม.ไฟเขียว
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายอัน ชาง-ยอง อธิบดีกรมนโยบายเขตการค้าเสรี กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ของเกาหลีใต้ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แบบ 2 ฝ่ายระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่มเติมจากเอฟทีเอ ที่มีร่วมกันอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ เอฟทีเออาเซียน-เกาหลีใต้ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป)
ทั้งนี้ ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำเอฟทีเอไทย-เกาหลีใต้ และเร็วๆ นี้ เตรียมจัดรับฟังความเห็นสาธารณะและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อรวบรวมผลเสนอรมว.พาณิชย์และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่พิจารณา ขณะที่เกาหลีใต้ได้ศึกษาและหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเสร็จแล้ว รวมทั้งสนใจที่จะหารือความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจากับไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าหมายทำงานร่วมกัน เพื่อนำเสนอผลต่อระดับรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบการเปิดเจรจาโดยเร็วต่อไป
“การจัดทำเอฟทีเอกับเกาหลีใต้ จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ต่อยอดจากเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในกรอบอาเซียนและอาร์เซป โดยเฉพาะในสินค้าที่ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่ได้ลด/เลิกภาษีศุลกากรให้ไทย เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์ ผลไม้สดเมืองร้อน (มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) กากมันสำปะหลัง ซอสและของปรุงรส น้ำยางธรรมชาติ ยางล้อ และถุงมือยาง เป็นต้น นอกจากนี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้น เช่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งช่วยเพิ่มความร่วมมือในเรื่องใหม่ๆ เช่น การค้าดิจิทัล และห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น”
สำหรับการค้าไทย-เกาหลีใต้ ช่วง 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.) ปี 66 มีมูลค่า 8,999.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นไทยส่งออก 3,725.8 ล้านเหรียญฯ และไทยนำเข้า 5,274.1 ล้านเหรียญฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์